ซุปเปอร์สกายวอล์คกับการทำลายเมืองกรุงเทพฯ

ตั้งแต่ช่วงหลายปีที่ผ่านมาที่การเมืองของประเทศไทยมีความผันผวนอย่างหนัก แล้วเราได้คณะผู้บริหารประเทศและผู้บริหารกรุงเทพมหานครที่มาจากพรรคการเมืองเดียวกัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมารู้สึกว่าเราจะได้เห็นการนำเสนอโครงการต่าง ๆ มากมายมาอย่างต่อเนื่อง โครงการทั้งในระดับประเทศและในระดับเมืองที่พรั่งพรูออกมานั้น ส่วนใหญ่จะมีอยู่เพียง 2 ประเภทคือโครงการประชานิยมลด แลก แจก แถม กับโครงการสิ่งก่อสร้างรูปธรรมขนาดใหญ่

จะเห็นได้ว่ากว่าสองปีที่ผ่านมาหลายโครงการของรัฐบาลและคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ซึ่งอาจจะเป็นโครงการส่วนมากเสียด้วยที่ก่อให้เกิดปัญหาทั้งที่เป็นปัญหาในระดับตื้นเขินมากที่สุดก็คือปัญหาคอร์รัปชั่น ไปจนถึงปัญหาระดับลึกอย่างเรื่องความแตกแยกทางสังคม

แต่ถึงแม้ว่าจะมีมากมายหลายโครงการที่ประสบปัญหา มีการตั้งคำถาม มีข้อสังเกต หรือข้อติติงมากเท่าใด การเร่งทำคลอดบรรดาโครงการต่าง ๆ ของฝ่ายบริหารก็ดูจะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไม่มีลดน้อยถอยลง อาจจะเป็นเพราะว่าเป็นช่วงเวลาที่ใกล้เทศกาลการเลือกตั้งก็ได้ นักเลือกตั้งจึงต้องหวังที่จะอาศัยโครงการเหล่านี้เป็นเครื่องมือเพื่อการหาเสียงสร้างคะแนนนิยมหรืออาจจะมีผลประโยชน์อะไรมากกว่านั้น

สำหรับบรรดาโครงการของกรุงเทพมหานครนั้น ที่ผ่านมาส่วนใหญ่จะเห็นได้ว่าเป็นโครงการที่เน้นการสร้างภาพเท่านั้น เพราะขาดการศึกษาวิจัยถึงผลดี ผลเสีย และผลกระทบในเชิงลึก และที่สำคัญที่สุดคือขาดการมีส่วนร่วมของประชาคมเมือง ไม่ว่าจะเป็นโครงการBRT โครงการอุโมงค์ยักษ์ โครงการรถไฟฟ้าโมโนเรล และล่าสุดก็คือโครงการซุปเปอร์สกายวอล์ค

ซุปเปอร์สกายวอล์คืออะไร เราอาจจะคุ้นเคยกับซุปเปอร์ไฮเวย์ที่เป็นทางด่วนสำหรับรถยนต์ โดยเป็นทางยกระดับขึ้นสูงหรือไม่สูงก็ได้แต่แยกระบบการสัญจรออกจากระบบการจราจรปรกติ ซุปเปอร์ไฮเวย์จึงเป็นทางรถวิ่งเร็ว มักไม่ค่อยมีไฟจราจรมากั้นให้เสียอารมณ์ ส่วนซุปเปอร์สกายวอล์คนี้ก็น่าจะหมายถึงทางเท้าเดินเร็ว ยกระดับการเดินด่วนโดยไม่ต้องมีถนนรถวิ่งให้ต้องหยุดรอตามสี่แยกให้เสียอารมณ์เช่นกัน

ซุปเปอร์สกายวอล์คคือโครงการล่าสุดที่เปิดตัวโดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้บริหารกรุงเทพมหานครอธิบายว่าจะสร้างเป็นโครงข่ายทางเดินลอยฟ้าใจกลางกรุงเทพฯเป็นระยะทางทั้งสิ้นถึงประมาณ 50 กิโลเมตร โดยจะแบ่งก่อสร้างเป็น 2 เฟส คือเฟสแรกจะสร้างครอบถนนสุขุมวิทเกือบทั้งสาย ตั้งแต่ซอยนานาไปถึงซอยแบริ่ง มีระยะทางประมาณ 16 กิโลเมตร ส่วนเฟสต่อไปจะมีที่ถนนพญาไท ถนนรามคำแหง ถนนเพชรบุรี และฝั่งธนบุรีใกล้วงเวียนใหญ่ งบประมาณในการก่อสร้างสกายวอล์คทั้งหมดนี้จะอยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเริ่มเสร็จเฟสแรกในปี 2555 จนครบทั้งโครงข่ายในปี 2557

คนกรุงเทพฯเริ่มรู้จักกับสกายวอล์คครั้งแรกเมื่อครั้งเปิดโครงการเซ็นทรัลเวิร์ลพลาซ่า ซึ่งเป็นการปรับโฉมโครงการเวิร์ลเทรดเซ็นเตอร์ซึ่งผู้ประกอบการเดิมประสบปัญหาทางธุรกิจจนต้องผ่องถ่ายโครงการที่เป็นปัญหานี้ให้แก่กลุ่มค้าปลีกยักษ์ใหญ่เซ็นทรัล ถึงแม้ว่าเซ็นทรัลเวิร์ลเป็นโครงการใหญ่ที่สี่แยกราชประสงค์ แต่โครงการเปิดตัวใหม่ในช่วงที่มีการแข่งขันทางธุรกิจกันอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคู่แข่งกลุ่มเดอะมอลล์ซึ่งเปิดตัวโครงการสยามพารากอนในบริเวณใกล้เคียงกัน แต่ที่ตั้งของโครงการเซ็นทรัลเวิร์ลกลับไม่ได้อยู่ติดกับสถานีรถไฟฟ้า BTS ซึ่งได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญทางยุทธศาสตร์ของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ยุคใหม่ ดังนั้นกลุ่มเซ็นทรัลจึงได้ผลักดันให้สร้างสกายวอล์คเพื่อเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้า BTS สองสถานีคือสถานีสยามและสถานีเพลินจิตและแน่นอนที่สุดคือการสร้างทางเชื่อมเข้าสู่โครงการเซ็นทรัลเวิร์ล ต่อมาสกายวอล์คนี้เองที่ได้ตอกย้ำความเป็นย่านธุรกิจการค้าใจกลางกรุง ตั้งแต่สี่แยกปทุมวันมาถึงแยกราชประสงค์ไปจนถึงสี่แยกเพลินจิต โดยมีการสร้างทางเชื่อมเข้าสู่ศูนย์การค้า โรงแรม และอาคารสำนักงานที่สำคัญ ๆ หลายแห่งตลอดเส้นทาง จะเห็นได้ว่าสกายวอล์คสายนี้กลายเป็นที่นิยมของคนเดินเท้าเป็นอย่างมาก นอกเหนือจากความสะดวกในการเชื่อมต่ออาคารสถานที่สำคัญ ๆ ตลอดเส้นทางแล้ว สภาพพื้นผิวทางเท้าก็ทำได้เรียบอย่างมีมาตรฐาน และที่สำคัญก็คือปราศจากหาบเร่แผงลอยเกะกะทางเดิน ในเวลาต่อมาไม่นานนักเราก็เริ่มเห็นการสร้างสกายวอล์คคล้าย ๆ กับที่คร่อมเส้นถนนพระราม1-เพลินจิตเพิ่มมากขึ้น อย่างเช่นที่แยกอโศก แยกทองหล่อ และแยกสาทร-นราธิวาสฯ

โครงการซุปเปอร์สกายวอล์คเป็นโครงการใหญ่ ไม่ใช่แต่เป็นเรื่องการทุ่มงบประมาณมหาศาลเพื่อเพิ่มพื้นที่ทางเดินเท้าเท่านั้น จะส่งผลกระทบต่อเมืองในหลากมิติ ผู้เขียนจึงอยากจะตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นเกี่ยวกับโครงการเพียงสองประการดังต่อไปนี้

ประการแรก ผู้บริหารกรุงเทพมหานครไม่ได้ริเริ่มโครงการนี้จากความเข้าใจปัญหาของเมืองกรุงเทพฯ เพียงแต่มุ่งหวังที่จะสร้างภาพลักษณ์ของผลงานเพื่อการประชาสัมพันธ์เท่านั้น เพราะถ้าโครงการนี้เกิดมาเพื่อการแก้ปัญหาเมืองแล้ว การกำหนดตำแหน่งเส้นทางของซุปเปอร์สกายวอล์คก็คงจะไม่เกิดขึ้นตามแผนที่คลอดออกมา ไม่ว่าจะเป็นถนนสุขุมวิท ถนนเพชรบุรี ถนนพญาไท หรือถนนรามคำแหง เพราะปัญหาที่ซุปเปอร์สกายวอล์คน่าจะเกี่ยวข้องก็มีเรื่องคุณภาพของทางเดินเท้า ทั้งในเรื่องของขนาดที่เหมาะสมกับจำนวนผู้สัญจร และคุณภาพของพื้นผิวที่เอื้อต่อผู้เดินสัญจรทั้งสำหรับคนทั่วไปและผู้พิการ นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องหาบเร่แผงลอยซึ่งใช้พื้นที่สาธารณะเพื่อการค้า นอกจากจะเบียดบังพื้นที่ทางเดินสัญจรแล้ว ยังเป็นการละเมิดกฎหมายอีกด้วย ก่อให้เกิดประเพณีการเรียกเก็บส่วยทั้งจากมาเฟียตำรวจ ทหาร รวมถึงเจ้าหน้าที่เทศกิจของกรุงเทพมหานครเอง จะเห็นได้ว่าแค่เพียงสองปัญหาพื้นฐานนี้ก็เป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้บริหารกรุงเทพฯไม่ว่าจะกี่สมัยก็ไม่สามารถจะแก้ไขได้ และการแก้ปัญหาทั้งสองเรื่องนี้ก็ไม่จำเป็นจะต้องใช้ซุปเปอร์สกายวอล์คในการแก้ไขแต่อย่างใด หรือถ้าจะต้องมีก็อาจจะใช้เพียงสกายวอล์คในบางตำแหน่งสำหรับบูรณาการกับมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างอื่น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับปรุงทั้งรูปแบบและคุณภาพของทางเดินเท้าซึ่งควรจะมีการปรับปรุงทั้งเมืองกรุงเทพอย่างจริงจังเสียที มีหลายเส้นทางที่อาจจะต้องประกอบกันทั้งการเพิ่มพื้นที่เดินเท้าและพื้นที่ค้าขายในบางตำแหน่งที่เกิดปัญหาขั้นวิกฤติ ซึ่งสกายวอล์คหรืออุโมงค์อาจจะช่วยเสริมได้ เพราะนอกเหนือจะเพิ่มทางเลือกในการเดินสัญจรแล้วยังสามารถสร้างเป็นเส้นทางช๊อปปิ้ง อย่างที่ย่านการค้าในกรุงโซลประเทศเกาหลีใต้หรือนครโอซาก้าประเทศญี่ปุ่นทำมาแล้วก็ได้ ถ้าผู้บริหารกรุงเทพฯจะมีนโยบายได้อย่างนี้แล้ว ไม่เพียงแค่จะเป็นการเพิ่มพื้นที่ทางเดินสัญจรเท่านั้น แต่จะลดปัญหาหาบเร่แผงลอย ปัญหาการเก็บส่วย และการคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐไปได้ในระดับหนึ่งทีเดียว

ประการที่สอง ซุปเปอร์สกายวอล์คนอกจากจะไม่ได้แก้ปัญหาของเมืองแล้วยังจะสร้างปัญหาขึ้นมาทับถมเข้าไปอีก ประการแรกเลยก็คือเรื่องความเหมาะสม ความโปร่งใสของการถลุงงบประมาณ 10,000 ล้านบาทจากเงินภาษีของคนไทยทั้งประเทศ เพียงเพื่อสร้างทางเดินเทวดาสำหรับคนกรุงเทพฯใจกลางเมืองเท่านั้น แค่รูปลักษณ์ของซุปเปอร์สกายวอล์คก็บ่งบอกชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นการยกระดับทางเดินเท้า ซึ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำของสังคมภายในเมืองเอง ทั้งยังสะท้อนไปถึงความไม่เท่าเทียมระหว่างสังคมเมืองและชนบทอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสังคมไทยในเวลานี้ ได้เข้ามาสู่ยุคของความขัดแย้งในเรื่องความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท จนกระทั่งมาถึงจุดที่อาจจะต่อสู้แตกหักได้ในทุกขณะแล้ว น่าเสียใจที่ผู้บริหารกรุงเทพฯไม่เข้าใจและไม่ใส่ใจ เพราะมัวแต่จะเน้นที่การสร้างภาพลักษณ์อันตื้นเขินเพื่อประชาสัมพันธ์และหวังผลทางการเมืองเท่านั้น ส่วนผลกระทบของเมืองจากโครงการซุปเปอร์สกายวอล์คนั้นจะกระทบเป็นวงกว้างทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมขนาดไหนก็ยากเกินจะคาดเดาได้ แต่ข้อสังเกตอันดับแรกก็คือความเป็นไปได้สูงของการเสื่อมสลายของชุมชนห้องแถวริมถนนที่จะมีซุปเปอร์สกายวอล์คคร่อมอยู่ไม่ว่าจะเป็นถนนสุขุมวิท ถนนพญาไท ถนนเพชรบุรี และถนนรามคำแหง ยกเว้นแต่ถนนสาทรซึ่งไม่ค่อยมีชุมชนตึกแถวมากเท่าใดนัก ส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการห้องแถวซึ่งเป็นคนชั้นกลางที่อาศัยห้องแถวทำมาค้าขายชั้นล่างและพักอาศัยอยู่ชั้นบน แต่เมื่อผู้บริหารกรุงเทพฯได้มีนโยบายสร้างระบบทางเท้าใหม่ แต่กลับปล่อยละเลยให้สภาพทางเดินเท้าปรกติดั้งเดิมเสื่อมทรุดโทรมจนคนทั่วไปรู้สึกว่าน่าจะลงแรงในการเดินขึ้นบันไดไปใช้สกายวอล์คแทนแล้ว ระบบการค้าขายของชุมชนห้องแถวก็จะทรุดโทรมและผุพังลงเป็นลำดับ ในขณะที่สกายวอล์คกลับจะเป็นสิ่งที่เอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนขนาดใหญ่มากกว่า โดยจะเห็นว่าบรรดาอาคารขนาดใหญ่ ทั้งศูนย์การค้า โรงแรม และสำนักงานที่เรียงรายอยู่ตามเส้นทางสกายวอล์คก็จะนิยมสร้างทางเชื่อมจากสกายวอล์คเข้าสู่อาคารโดยตรง ประเด็นนี้ตอกย้ำความเหลื่อมล้ำเสียยิ่งกว่าภาพลักษณ์ทางเดินเทวดา แต่ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายการเมืองและกลุ่มทุนใหญ่มักจะร่วมมือกันผลาญทรัพยากรของรัฐเพื่อเอื้อประโยชน์แต่เพียงฝ่ายตนเท่านั้น กลายเป็นประเด็นทางสังคมที่บาดลึกกันต่อไป

ปัญหาอื่น ๆ ของซุปเปอร์สกายวอล์คเองก็ยังจะมีตามมาอีก เช่นเรื่องของความปลอดภัย เมื่อโครงสร้างระบบทางเดินเท้ามโหฬาร แต่มีลักษณะที่ปิดแยกระดับ ซึ่งก็คือแปลกแยกออกจากชุมชนเมือง ทำให้บรรดามิจฉาชีพสามารถอาศัยพื้นที่ทางเดินเท้านี้บางจุดที่ล่อแหลมสำหรับการก่ออาชญากรรมอย่างยากยิ่งที่จะป้องกันได้ หรืออาจจะใช้เจ้าหน้าที่เทศกิจของกรุงเทพมหานครมาดูแลรักษาความปลอดภัยบนทางเดินลอยฟ้านี้ ซึ่งก็จะต้องใช้งบประมาณต่อเนื่องอันมหาศาล จึงอาจจะเป็นคำถามต่อไปว่าการใช้ทางเดินเท้าด่วนนี้จะเก็บค่าผ่านทางสำหรับเป็นค่าบริหารจัดการเหมือนกับระบบทางด่วนรถยนต์หรือเปล่า หรือผู้บริหารกรุงเทพฯมีแผนจะสร้างประตูปิดเปิดให้ใช้เป็นเวลาอย่างของสกายวอล์คบนถนนพระราม 1 ซึ่งก็ยังจะทำได้ยากเพราะขนาดโครงข่ายอันใหญ่โตย่อมจะมีช่องทางเข้าออกเป็นจำนวนมาก ยากที่จะสามารถควบคุมได้

ความเป็นเมืองนั้นไม่ใช่ภาพของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างอันนำสมัย แต่เป็นเรื่องของวิถีชีวิตผู้คนที่อยู่ในเมือง การบริหารเมืองจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และเปลี่ยนแปลงไปด้วยเหตุและผล คำนึงถึงสิ่งที่จะกระทำและผลกระทบอย่างมีวิสัยทัศน์และชาญฉลาด ในกรุงเทพมหานครยังมีปัญหาสำคัญอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ฝ่ายรัฐจะต้องเป็นผู้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน มีหลายประเด็นที่ฝ่ายรัฐอาจเป็นเพียงผู้ริเริ่มและภาคสังคมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนหรือภาคเอกชนเข้ามาสานต่อ การนำเสนอโครงการของฝ่ายบริหารกรุงเทพมหานครจึงควรมีการสำรวจถึงปัญหาจากหลากหลายแหล่งทั้งภาครัฐและประชาคมเมือง อาศัยการระดมความคิดจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาเหล่านั้นอย่างรอบด้าน รูปลักษณ์อันสวยงามน่าตื่นตาตื่นใจของโครงการควรจะเป็นเพียงผลพลอยได้สำหรับไว้ประชาสัมพันธ์เท่านั้น

แต่น่าเสียใจที่การนำเสนอโครงการประเภทนี้มักจะมีนัยยะทางการเมืองเป็นสำคัญทุกครั้ง นัยยะทางการเมืองในที่นี้หมายถึงผู้กำหนดนโยบายซึ่งชอบที่จะอาศัยรูปธรรมของโครงการสำหรับการสื่อประชาสัมพันธ์ผลงานตัวเองทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ แม้กระทั่งป้ายโฆษณาริมถนน การใช้โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ย่อมจะได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษจากสื่อมวลชน เพราะโครงสร้างอันอลังการของมันจะสามารถสร้างภาพลักษณ์เป็นความสำเร็จของผลงานให้ได้เห็นกันเป็นรูปธรรมจับต้องได้ง่าย ก่อกระแสความนิยมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงสังเกตได้ว่าการจัดทำโครงการเหล่านี้มักจะถูกดำเนินการอย่างรีบเร่งมากที่สุด เพื่อให้ทันกับจังหวะเวลาของการเลือกตั้งเป็นสำคัญ

โดย :  Pansit Torsuwan เมื่อ 27 กุมภาพันธ์ 2011 เวลา 22:34 น.

You may also like...