มนุษย์เป็นสัตว์สังคม นั่นคือความจริงที่เราต่างรู้กันดีอยู่ เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกัน สังคมจึงถูกสร้างขึ้นพร้อมๆกับข้อกำหนด (ซึ่งได้วิวัฒนาการต่อมาเป็นธรรมเนียมประเพณีและกฎหมาย) เพื่อใช้บังคับให้มนุษย์ทั้งหลายอยู่ในลู่ทาง ไม่ใช่อิสระที่ตนมีจนทำให้คนอื่นเดือดร้อน แต่ในขณะเดียวกับที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์ก็มีความเป็นปัจเจก มีอิสระทางความคิดและการกระทำติดตัวมาแต่กำเนิด
ความขัดแย้งนี้เองนำมาซึ่งการลงโทษให้เราได้เห็นอยู่บ่อยๆเมื่อใครสักคนหนึ่งใช้อิสระที่เขามีจนเกินขอบเขตที่กฎหมายกำหนด ตัวกฎหมายนี้ก็จะทำการตีกรอบหรือสั่งสอนให้เขากลับไปอยู่ในที่ในทางที่เหมาะสม หรือสร้างที่ที่เหมาะสมให้เขาอยู่แทน เช่น คุก วิวัฒนาการนี้ดำเนินเรื่อยมาหลายร้อยปี ยาวนานหลายชั่วอายุคน จนเราไม่รู้สึกว่ามันผิดปกติแต่อย่างใด แต่เชื่อเถอะว่า ต้องมีสักนาทีหรือสองนาทีในชีวิต ที่เราจะเกิดคำถามในใจ ว่าทำไมเราต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ที่สังคมกำหนดให้ทำทั้งๆที่เราไม่ได้อยากทำ
คุณเยนเซนเป็นคนหนึ่งที่เกิดความคิดนี้ขึ้นมา หลังจากที่เขาถูกไล่ออกจากงานที่ทำมา 10 ปี ทั้งๆที่ไม่ได้ทำอะไรผิด เหตุผลเพราะเขาไม่ได้รับการบรรจุเป็นพนักงานอย่างถูกต้อง แต่บริษัทมีความจำเป็นต้องไล่คนออก ดังนั้นคุณเยนเซนจึงสมควรถูกไล่ออกมากกว่าพนักงานคนอื่น ที่ได้รับการบรรจุอย่างถูกต้อง คุณเยนเซนออกมาอยู่บ้าน ยังชีพด้วยเงินสวัสดิการผู้ตกงาน เขาตั้งใจว่าจะอยู่อย่างนี้ไปเรื่อยๆแต่รัฐไม่ยอม เรียกเขาเข้าไปรายงานตัว บังคับให้เขาหางานทำโดยเร็ว ซึ่งคุณเยนเซนไม่อยากหา รัฐจึงจับคุณเยนเซนเข้าฝึกอบรมวิชาชีพ ซึ่งคุณเยนเซนเกลียดแสนเกลียด พ้นจากรัฐมาได้ คุณเยนเซนต้องทะเลาะตบตีกับผู้คนที่แบกค่านิยมของสังคมที่ว่า คนต้องมีงานทำอยู่เสมอๆจนกระทั่งเขารู้สะอิดสะเอียน เมื่อนั้นเอง ที่คุณเยนเซนได้ตระหนักว่า กฎหมาย การปกครองของรัฐ และค่านิยมในสังคม ที่แต่เดิมเกิดขึ้นมาเพื่อจัดระเบียบให้คนอยู่อย่างเรียบร้อบในสังคมนี้ชักจะบิดเบี้ยวและถือวิสาสะเข้ามากำหนดให้คนในสังคมต้องทำในสิ่งที่เขาไม่ต้องการเข้าไปทุกที
คนเกิดมาในสังคมแล้วต้องเรียนหนังสือ และต้องเรียนให้ได้เกรดดีด้วย จบแล้วต้องมีงานทำ ต้องสร้างฐานะ มีรถ มีทีวี ตู้เย็น มีบ้าน มีแฟน แต่งงาน แล้วก็มีลูก ต้องมีนั่นมีนี่ ต้องเป็นนั่นเป็นนี่ โดยไม่ถามสักคำว่า คนคนนั้นเขาอยากมีหรืออยากเป็นเหมือนที่สังคมต้องการหรือไม่ ครั้นคนคนนั้นดื้อแพ่ง ไม่ยอมตกอยู่ใต้การครอบงำของสังคมอีกต่อไป สังคมก็จะรุมประณามเขาด้วยค่านิยมที่ถูกยัดใส่สมองมารุ่นต่อรุ่น ผลิตซึ่งคำนินทาว่าร้าย ใส่ร้ายป้ายสีต่างๆนานา และถ้าคนคนนั้นยังไม่ยอมอีก กฎหมายก็พร้อมจะจัดการเขาในฐานะส่วนเกินของสังคม เหมือนที่คุณเยนเซนถูกรุกรานจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ หลังจากที่เขาประกาศความเป็นปัจเจกของตนออกไป โดยการไม่หางานทำ วันๆไม่ทำอะไร บ้านเขาไม่มีทีวี ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ซึ่งเขาพบว่า โลกของเขาช่างแสนปกติสุข คุณเยนเซนใช้ชีวิตอันสงบสุขของเขาไป แต่ก็ไม่วายมีคนแจ้งกับทางรัฐ ว่าพฤติกรรมของเขาเข้าข่ายเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่น(คือการไม่มีทีวี ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ และไม่ยอมรับว่าเศรษฐกิจของประเทศกำลังแย่ เพราะชีวิตประจำวันของเขาก็ยังปกติสุขดีอยู่) นำมาซึ่งการเผชิญหน้าครั้งสำคัญระหว่างคุณเยนเซนกับรัฐ
ทั้งหมดคือเรื่องราวของ Herr jensen STEIGT AUS ชายหนุ่มผู้ถอนตัวจากโลก ผลงานของนักเขียน เยอรมัน ยาค็อบ ไฮน์ (Jakob Hein) ที่นำเสนอภาพให้พวกเราตระหนักว่า สังคมและกฎหมายคือสิ่งจำเป็นที่ต้องมี เพื่อจัดระเบียบความเรียบร้อยให้มนุษย์ที่สังกัดอยู่ แต่มันดีจริงหรือ ถ้าสังคมเข้ามาครอบงำมนุษย์ทุกฝีก้าวจนไร้อิสระ ไร้ความคิด ไร้ความแตกต่าง เมื่อนั้นมนุษย์ก็จะไม่ใช่มนุษย์ ไม่ใช่แม้พลเมือง หากแต่เป็นเพียงแค่มดตัวหนึ่ง ที่วงจรชีวิตทุกย่างก้าวถูกสังคมกำหนดบทบาทให้เรียยบร้อยเบ็ดเสร็จ และถ้าไม่ยอมตาม มดตัวนั้นก็จะถูกจัดการ เหมือนว่าเป้าหมายในทุกวันนี้ของสังคม จะไม่ใช่เพียงแค่จัดระเบียบให้มนุษย์ แต่คือการทำให้เป็นปัจเจกหมดสภาพไปดดยสิ้นเชิง ในสังคมที่ไม่มีคำว่า ทางสายกลาง ทางเลือกของเราในฐานะมนุษย์อาจมีแค่ ยอมสลายความเป็นปัจเจกไปดดยสิ้นเชิง และเดินตามระบบสังคมต่อไปเรื่อยๆ หรือไม่ก็ถอนตัวจากโลกซะ !
อ้างอิง :Herr jensen STEIGT AUS “ชายหนุ่มผู้ถอนตัวจากโลก”, Jakob Hein, อธิคม แสงไชย : แปล, วงกลม, 2553.
Text : กิติคุณ คัมภิรานนท์