การอนุรักษ์พระพุทธรัตนสถาน เขตพระราชฐานชั้นกลาง พระบรมหาราชวัง

การอนุรักษ์พระพุทธรัตนสถาน พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม เขตพระราชฐานชั้นกลาง พระบรมหาราชวัง (พ.ศ. ๒๕๓๗-๒๕๔๗) พระพุทธรัตนสถาน หรือ พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม คือพระอุโบสถพระพุทธนิเวศน์แห่งพระพุทธบุษยรัตนจักรพรรดิพิมลมณีมัย ซึ่งเรียกโดยย่อว่าพระพุทธบุษยรัตน์

ตั้งอยู่ในสวนศิวาลัย เขตพระราชฐานชั้นกลาง พระบรมมหาราชวัง ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้สถาปนาบริเวณสวนศิวาลัยเป็นเขตพุทธาวาส จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระพุทธรัตนสถานเพื่อเป็นพระวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธบุษยรัตน์ และใช้เป็นสถานที่บำเพ็ญพระราชกุศลของฝ่ายใน โดยมีความสำคัญรองลงมาจากวัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระพุทธรัตนสถานใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีสำคัญต่างๆมาโดยตลอดจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

พระพุทธรัตนสถานเริ่มมีการบูรณะปฏิสังขรณ์ ในปี พ.ศ.๒๔๙๒ และเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ.๒๔๙๖ แต่ทั้งนี้เนื่องจากผนังด้านทิศเหนือระหว่างช่องพระบัญชร ๔ ช่องเสียหายไปมาก ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๕๐๔ สำนักพระราชวังจึงมอบหมายให้กรมศิลปากรดำเนินการเขียนภาพให้เต็ม โดยให้เขียนเรื่องเกี่ยวกับพระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเป็นหลัก ซึ่งในครั้งนั้น ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี รับหน้าที่เป็นแม่กองในการดำเนินการเขียนภาพ ตลอดจนจัดหาช่างเขียนและกำหนดวางองค์ประกอบเรื่องทั้งหมด โดยจัดให้เขียนเป็นภาพพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาที่ ๘ และรัชกาลที่ ๙ ในระหว่างปี พ.ศ.๒๔๘๘-๒๔๙๙ และสิ้นสุดเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันทรงผนวช รวมเป็นภาพ ๘ ช่องเต็มพื้นที่ผนัง

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสว่า “ จิตรกรรมฝาผนังในพระพุทธรัตนสถานนั้น เนื้อเรื่องมิได้เกี่ยวข้องกับพระพุทธรัตนสถาน ซึ่งคติช่างไทยแต่โบราณจะกำหนดภาพเขียนให้มีความสัมพันธ์กับประวัติและความสำคัญของอาคาร แนวศิลปกรรมและการใช้สีขัดแย้งกับภาพจิตรกรรมตอนบนที่เขียนเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๔ อันเป็นการเขียนภาพแบบไทยประเพณี สมควรรักษาแนวคิดของช่างโบราณ” หากมีการปรับเปลี่ยนงานจิตรกรรมฝาผนังส่วนนี้ให้สอดคล้องกลมกลืนกับภาพตอนบน ก็จะเป็นการถูกต้อง ถือเป็นการเชิดชูงานศิลปกรรมของภูมิปัญญาบรรพชน ดังนั้นในวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๔๒ นายนิคม มุสิกะคามะ อธิบดีกรมศิลปากรในสมัยนั้นจึงได้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ วังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อรับพระราชทานพระราชดำรัสเกี่ยวกับแนวทางการเขียนภาพโดยมีสาระสำคัญคือ “ขอให้รักษาลักษณะศิลปะอย่างกระบวนการช่างแต่โบราณ ยึดความถูกต้องตามข้อมูลที่เป็นจริง และไม่ควรสร้างสิ่งผิดให้ปรากฏ”

พระพุทธรัตนสถาน เป็นอาคารชั้นเดียว ยกพื้นสูง แบ่งเป็น ๓ ระดับ หลังคาทรงไทย มีมุขลดทั้งทางด้านทิศตะวันออก และด้านทิศตะวันตก หลังคามุงกระเบื้องดินเผาเคลือบสี ผนังประดับด้วยหินอ่อนสีเทา การบูรณะพระอุโบสถระหว่างปี พ.ศ. ๒๕๓๗ – ๒๕๔๗ ประกอบไปด้วย การซ่อมแซมโครงสร้างหลังคา และการเปลี่ยนกระเบื้องมุงหลังคา การขัดล้างทำความสะอาดหินอ่อนที่ผนัง เสา ราวระเบียง พื้นบันได การซ่อมหินอ่อนในส่วนที่ชำรุดทั้งหมด และการปรับปรุงลานหินแกรนิตด้านหน้าพระอุโบสถ

การอนุรักษ์ภาพจิตรกรรมฝาผนัง กรมศิลปากรได้รับสนองพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการดำเนินการอนุรักษ์และเขียนภาพจิตรกรรมบนพื้นผนังระหว่างช่องพระบัญชรทั้ง ๘ ผนัง ภายในพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๓๗ เป็นต้นมา สำหรับแนวทางการเขียนภาพนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานแนวพระราชดำริให้ยึดความสำคัญของพระพุทธรัตนสถานเป็นหัวใจของการกำหนดภาพ และในขั้นตอนของการร่างแบบนั้น  ทรงเน้นในเรื่องความถูกต้องในรายละเอียดของภาพ และได้ทรงแก้ไขภาพร่างอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยและได้พัฒนามาเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์นั้น เป็นภาพที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานและพระราชกรณียกิจในพระมหากษัตริย์รัชกาลต่างๆ

จิตรกรรมฝาผนังภายในพระอุโบสถพระพุทธรัตนสถานที่ได้เขียนขึ้นตามแนวพระราดำริ เป็นภาพขนาดกว้าง ๔ ฟุต  สูง ๘ ฟุต มีลักษณะเป็นรูปแบบการแสดงออกในมุมสูง เทคนิคการเขียนสีเป็นแบบจิตรกรรมไทยประเพณี ผสมผานไปกับการกำหนดน้ำหนักอ่อนแก่ แสงและเงา พร้อมทั้งการเขียนรูปทรงของบุคคลตามลักษณะที่เป็นธรรมชาติ และถูกต้องตามหลักกายวิภาค  ภาพสถาปัตยกรรมเขียนรายละเอียดตามลักษณะที่เป็นจริง แต่ใช้หลักทัศนียภาพแบบประเพณีของจิตรกรรมไทย ฉะนั้น จึงเป็นงานจิตรกรรมที่มีลักษณะเฉพาะตัวเป็นจิตรกรรมไทยแนวประเพณียุครัตนโกสินทร์สมัยรัชกาลที่ ๙ การเขียนภาพในขั้นตอนสุดท้ายนั้นใช้เวลาเพียง ๑ ปี คือ เริ่มต้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖ และเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมีนาคม พ.ศ.๒๕๔๗

 

You may also like...