APOCALYPTO อารยธรรมเกิดจากความกลัวของมนุษย์

เนิ่นนานมาแล้ว บนเกาะแห่งหนึ่ง มีชนเผ่าหนึ่งอาศัยอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้าน ล่าสัตว์ หาของป่าอยู่กันตามธรรมชาติอย่างสงบสุขเรื่อยมา จนกระทั่งวันหนึ่ง ชนเผ่าพื้นเมืองนี้ถูกชนอีกเผ่าหนึ่งที่เข้มแข็งกว่าบุกปล้นฆ่า ผู้ต่อต้านถูกฆ่าตาย ผู้หญิงถูกข่มขืนแล้วฆ่า ผู้ชายและคนที่ไร้ทางสู้ถูกจับเป็นเชลย ชนเผ่าที่เข้มแข็งกว่าพาเชลยผู้รอดชีวิตกลับสู่เมืองของตน


ณ ที่นั้น สิ่งที่เหล่าเชลยผู้ด้อยอารยธรรมได้เห็น คือสิ่งที่เรียกว่าอารยธรรม ที่อยู่อาศัยของชนเผ่าผู้เข้มแข็งปลูกสร้างด้วยหิน มีตลาด มีของซื้อของขสย ซึ่งรวมถึงซื้อขายมนุษย์ไปเป็นทาสใช้แรงงาน และใช้ปลดเปลื้องกามารมณ์ ที่แห่งนั้นมีประเพณี มีชนชั้น เหนืออื่นใด มีการบูชายัญ เชลยที่ถูกจับมาจะถูกนำมาบูชายัญเทพพระอาทิตย์เพื่อขอพรให้พวกตนอยู่ดีมีสุข เหล่านี้คือสิ่งที่ชนเผ่าผู้ดด้อยอารยะไม่เคยพบเห็น และรับไม่ได้

ในแวดวงภาพยนตร์ APOCALYPTO อาจเป็นผลงานสุดอื้อฉาวของเมล กิบสัน ในแง่ของความรุนแรงด้านภาพและเนื้อหา ผมไม่เถียง แต่หลังจากชมภาพยนตร์เรื่องนี้จบลง ผมเห็นว่ามีอีกสิ่งที่ชวนอื้อฉาวมากกว่าความรุนแรงด้านภาพและเนื้อหา นั่นคือแก่น ที่บอกแก่เราในฐานะผู้ชมว่า อารยธรรมอันแสนศิวิไลซ์ของเรา เกิดขึ้นมาจากความ “อนารยะ” อารยธรรมของชนเผ่าผู้เข้มแข็งเกิดมีได้ก็ด้วยการรุกรานเข่นฆ่า ปล้นชิงทรัพยากรมนุษย์และธรรมชาติอย่างละโมบตะกละตะกลาม อย่างที่ไม่อาจเรียกได้ว่ามนุษย์ ซึ่งหากมองให้ลึกลงไปแล้วความอนารยะที่ว่า ก็เกิดมาจากอำนาจของความกลัวที่สถิตแน่นอยู่ในวิญญาณของพวกเขาเหล่านั้น เห็นได้ชัดจากการบูชายัญ ก็เพื่อให้เทพเจ้าช่วยปกป้องพวกตนให้พ้นจากโรคระบาด ความแห้งแล้ง และพวกเขาก็กลัวเกินกว่าจะบูชายัญพวกตัวเอง จึงต้องไปหาเหยื่อมาบูชายัญแทน ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าเกินเลย หากจะกล่าวว่า “อารยธรรมเกิดจากความกลัวของมนุษย์” ความกลัวนั่นเองนำไปสู่การเข่นฆ่าผู้อื่น ปล้นชิง กอบโกยทุกสิ่งอันมารับใช้ความอยู่รอดของเราเอง เช่นนั้นแล้ว เราสมควรเรียกสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาว่าเป็น อารยะอันเป็นธรรมหรือมากกว่านั้น

ในเมื่อธรรมชาติของความกลัวคือความหวั่นไหว ไม่แน่นอนที่เราสร้างขึ้น จะมั่นคงแข็งแรง และให้ประโยชน์สุขแท้แก่เราแค่ไหน APOCALYPTO เปิดเรื่องด้วยคำพูดของ ดับบลิว ดูร็องที่ว่า “อารยธรรมอันยิ่งใหญ่ย่อมไม่อาจถูกพิชิตได้จากภายนอก นอกเสียจากมันจะทำลายตัวมันเองจากภายใน”  แน่นอนที่สุดว่าสิ่งที่จะทำลายอารยธรรมอันแสนยิ่งใหญ่ ที่สุดแล้วก็มาจากความกลัวภายในของคนในอารยธรรมนั้นเอง และแน่นอนยิ่งกว่า ว่าตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่เคยมีอารยธรรมใดอยู่ยืนยงค้ำฟ้า เพราะทุกอารยธรรมก่อร่างขึ้นบนความหวั่นไหวไม่แน่นอน ประวัติศาตร์มนุษยชาติว่าไว้เช่นนั้น

TEXT : กิติคุณ คัมภิรานนท์  

You may also like...