หนึ่งในเรื่องน่าขันและน่าเศร้าที่เล่าขานกันซ้ำซากในวงการออกแบบกราฟิกไม่ใช่แค่ในบ้านเราแต่เป็นกันทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่ห่างไกลการพัฒนา และการให้คุณค่าหรือเคารพในสิทธิของทรัพย์สินทางปัญญายังถูกมองข้าม นั่นคือผู้เป็นเจ้าของธุรกิจที่ต้องการจ้างนักออกแบบตราสัญลักษณ์ หรือวางภาพลักษณ์งานกราฟิกต่างๆ ขององค์กรมักไม่ค่อยอยากจ่ายเงินจำนวนที่เหมาะสม กับการสร้างสรรค์รูปแบบตราสัญลักษณ์ หรืองานระบบสัญลักษณ์ทั้งหลาย
เพราะเห็นว่า เป็นสิ่งที่ปรากฎออกมาเพียงชิ้นงานเล็กๆ หรือเพียงเส้นสายไม่กี่เส้น ไม่กี่สี บนกระดาษไม่กี่แผ่น ซึ่งดูเหมือนงานที่น่าจะทำกันได้ง่ายๆ ทั้งที่ความจริงแล้ว เขาต้องใช้งานออกแบบชิ้นนี้บ่อยครั้ง และต้องสื่อสารอัตลักษณ์ของเขาออกไปสู่สายตาผู้คนมากมาย เป็นระยะเวลายาวนานแสนนาน ยิ่งกว่ารถหรูๆ หรือนาฬิการาคาแพงบนข้อมือของเขาเสียอีก
แต่สำหรับนักออกแบบส่วนใหญ่นั้นตระหนักดีว่า ตราสัญลักษณ์ที่ดูเหมือนง่ายแสนง่ายของสุดยอดแบรนด์ทั้งหลายในโลกนี้ ต้องเกิดจากความคิดที่ซับซ้อน แยบยล บวกกับประสบการณ์ อันสร้างสรรค์ขึ้นจากมันสมองของนักคิดที่มีความสามารถไม่ธรรมดาทั้งสิ้น เช่นเดียวกับตราสัญลักษณ์ของแบรนด์ชั้นนำของโลกอย่าง IBM, UPS, Enron, Westinghouse, ABC และ Steve Jobs’ NeXT ที่เราเห็นกันบ่อยจนชินตา อันเป็นผลงานของ Pual Rand หนึ่งในนักออกแบบกราฟิกระดับตำนานของอเมริกา ผู้มีชีวิตอยู่ระหว่างปีค.ศ. 1914 – 1996
เส้นทางการศึกษาของเขาก็คล้ายกับนักออกแบบอเมริกันจำนวนไม่น้อย คือผ่านการเรียนที่ Pratt Institute และ Parsons The New School for Design ซึ่งนอกเหนือจากการเป็นนักออกแบบอาชีพแล้วเขายังเก่งกาจขนาดเป็นอาจารย์สอนออกแบบในมหาวิทยาลัย YALE โดยเขาได้รับการประดับเกียรติสูงสุดของ New York Art Directors Club Hall of Fame ในปีค.ศ. 1972 ก่อนที่จะอำลาโลกไปด้วยโรคมะเร็งหลังจากที่ฝากผลงานที่เป็นอมตะเอาไว้แทนตัว
ทุกช่วงลมหายใจในการทำงานออกแบบของเขาล้วนแต่เป็นปรากฏการณ์ของวงการนักออกแบบในยุคนั้น เพราะนอกจากเขาจะได้ทำงานออกแบบชิ้นสำคัญๆมากมาย ยังประกาศความคิดเอาไว้ในหนังสือ Thoughts on Design ที่สื่อให้โลกเข้าใจว่างานออกแบบกราฟิกนั้นมีคุณค่าเทียบเท่ากับงานศิลปะแขนงหนึ่ง และนักออกแบบกราฟิกก็จัดเป็นศิลปินที่ต้องใช้ทั้งจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะไม่ด้อยไปกว่าจิตรกร หรือนักแต่งเพลง
งานของ Pual Rand นั้นเป็นงานออกแบบแถวหน้าของ Swiss Style คือแนวการออกแบบที่ดูน้อยชิ้น สะอาดตา คำนึงถึงทักษะการอ่านและเหตุผล แสดงความเด่นชัดของการจัดองค์ประกอบแบบไม่สมมาตร (Asymmetric lay-outs) มีการใช้ตาราง (Grid) และ Sanserif ซึ่งหมายถึงส่วนที่ยื่นออกมาจากตัวอักษร ที่ให้ความสำคัญกับการพิมพ์ (Typography) รวมไปถึงการผสมผสานการออกแบบโดยการใช้รูปถ่าย (Photography) ภาพประกอบ(Illustrate) และรูปวาด (Drawing) โดยหลายคนก็เรียกการทำงานแบบนี้ว่า Modern หรือ Minimalism ที่ยึดหลักว่า Less is More
ทั้งแนวคิดในการทำงาน และช่วงเวลาของการก่อกำเนิดผลงานจัดได้ว่า Pual Rand เป็น Modernism ที่เป็นหัวหอกของวงการออกแบบกราฟิกเลยทีเดียว ความยิ่งใหญ่ของเขาคล้ายกับความเกริกไกรของ ดา วินซี ผู้ประกาศศักดาและยกระดับอาชีพจิตรกรว่าเป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปะมากกว่าการเป็นช่างเขียนค่าตัวถูกๆ Pual Rand ได้ยกบทบาทของนักออกแบบกราฟิกในอเมริกาให้ได้รับความยอมรับมากขึ้น เทียบเท่ากับสถาปนิก หรือจิตรกร แม้ว่างานกราฟิกโดยมากจะเป็นงานเชิงพาณิชย์ แต่ก็ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า ผลงานออกแบบตราสัญลักษณ์ชิ้นอมตะจำนวนไม่น้อยนั้นอยู่คู่กับประวัติศาสตร์มนุษยชาติมาอย่างยืนยงและน่าทึ่งพอๆกับสิ่งมหัศจรรย์ทั้งเจ็ดของโลก นับตั้งตราสัญลักษณ์ของราชวงศ์ มาจนถึงตราสัญลักษณ์บนกล่องสินค้า หากใครที่เคยคิดว่า ตราสัญลักษณ์ หรืองานกราฟิกเป็นเรื่องไร้ความหมาย เห็นทีคงต้องคิดใหม่
——————————————————————————–
เรียบเรียงโดย : วีร์วิศ
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของ ArtBangkok.com ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย