พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา

พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศ  สาธารณรัฐอินเดีย (พ.ศ. ๒๕๔๔–๒๕๔๗ ) พระมหาธาตุเฉลิมราชศรัทธา วัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่เมืองกุสินารา รัฐอุตตรประเทศสาธารณรัฐอินเดีย

มีอาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร เป็นสถาปนิกผู้ถวายงาน ดำเนินงานก่อสร้างแล้วเสร็จในปีพุทธศักราช ๒๕๔๗  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงประกอบพิธีอัญเชิญยอดฉัตรทองคำและบรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเส้นพระเจ้า เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

พระมหาธาตุเจดีย์องค์นี้มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมประสมประสานลักษณะเด่นของศิลปะสถาปัตยกรรมไทยนับแต่สมัยสุโขทัยลงมาจวบจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  ซึ่งประกอบด้วยการใช้บัวฝาละมีซ้อนสามชั้นเป็นส่วนรับเรือนธาตุ  อันเป็นลักษณะเฉพาะในสมัยสุโขทัย การใช้เรือนธาตุแบบระฆังคว่ำ มีแนวบัวรอบปากระฆัง ซึ่งพบมากในสมัยอยุธยา และการใช้ปลียอดเป็นแบบบัวกลุ่มซ้อนชั้น อันเป็นลักษณะเด่นของสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ลักษณะโดยรวมเป็นสถาปัตยกรรมเครื่องคอนกรีตสีขาวบริสุทธิ์ กระเบื้องหลังคาปีกนกเคลือบขาวเหนือขึ้นไปเป็นส่วนของกลุ่มพระเจดีย์ โดยมีเจดีย์ประธานขนาดใหญ่อยู่ตรงกลาง ส่วนปลายยอดเป็นฉัตรโลหะหล่อ ๙ ชั้น  ล้อมรอบด้วยเจดีย์ขนาดเล็กบนมุขหลังคาซุ้มพระ ๘ ยอด รวมเป็นพระเจดีย์เก้ายอด องค์ระฆังของเจดีย์ทั้งเก้ายอดประดับด้วยโมเสกสีทองทั้งหมด

พระมหาธาตุองค์นี้เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริภาพทางด้านศิลปะสถาปัตยกรรมไทย  โดยในขั้นตอนการออกแบบนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยในการเลือกแบบเจดีย์จากแบบร่างที่สถาปนิกได้ทูลเกล้าฯถวาย  ได้ทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยเพิ่มเติมเป็นลำดับ ตั้งแต่เริ่มการออกแบบกระทั่งมีการพัฒนามาเป็นรูปแบบที่สมบูรณ์เป็นที่พอพระราชหฤทัย สมดังพระราชดำรัสที่ทรงมีกับผู้ออกแบบว่า “เจดีย์ของฉัน” โดยได้พระราชทานลายพระหัตถ์ปรับแก้ไขขนาดเรือนธาตุยอดกลาง ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นขนาดของเรือนธาตุที่ขยายใหญ่ขึ้นตามพระราชดำรินี้ เมื่อสร้างเป็นองค์จริงแล้วจะมีขนาดและสัดส่วนที่งดงามพอดี เมื่อมองจากระดับสายตาคนดูโดยทั่วไป ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเข้าพระทัยที่ลึกซึ้งในเรื่องของขนาดและสัดส่วนทางสถาปัตยกรรม

สถาปนิก : อาจารย์วนิดา พึ่งสุนทร

 

 

You may also like...