After the quake แผ่นดินที่สั่นไหว ไม่เท่าใจที่ไหวสั่น

After the quake (ค.ศ. 1999-2000) เป็นผลงานรวมเรื่องสั้นของนักเขียนนามอุโฆษชาวญี่ปุ่น ที่ชื่อว่าแม้ไม่ใช่นักอ่าน ก็ต้องเคยได้ยินชื่อของเขากันไม่มากก็น้อย เขาคือ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami)

มูราคามิเป็นนักเขียนคนหนึ่งที่ถ้าผู้อ่านไม่ชื่นชอบงานของเขาจนโงหัวไม่ขึ้น ก็จะประณามอย่างสาดเสียเทเสีย คงด้วยเหตุว่างานของมูราคามิมักเปิดช่องว่างหรือไม่ก็ซ่อน “สาร” ที่เขาต้องการสื่อในเรื่อง ให้เป็นหน้าที่ของผู้อ่านในการตีความและค้นหาเอาเอง ซึ่งสารที่ว่าส่วนใหญ่ถ้าไม่เป็นนามธรรมก็จะเป็นรูปธรรมที่เหนือจริงจนเกินจะคาดคิดถึง จึงไม่แปลกถ้าได้ยินนักอ่านส่วนหนึ่งบอกว่างานของมูราคามิ ไม่มีอะไร นอกจากความกลวงเปล่า กระนั้น ไม่ว่างานของมูราคามิจะกลวงเปล่าจริงๆหรือสารที่เขาต้องการสื่อมาสู่เราในฐานะผู้อ่าน จะเห็นพ้องกันก็คือ งานของเขาเป็นงานที่อ่านสนุก

After the quake เล่มนี้ก็เช่นกัน

After the quake ประกอบด้วยเรื่องสั้น 6 เรื่อง ที่มีจุดเชื่อมโยงถึงกันตรงที่ต่างก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นหลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่โกเบในปี ค.ศ. 1995 (ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้มูราคามิเขียนเรื่องสั้นเล่มนี้ขึ้นมา) 6 เรื่องสั้น

ในเล่มเล่าถึงชีวิตของคน 6 คน (บ้างก็เป็นกลุ่ม) ที่แม้จะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน แต่ก็มีจุดร่วมเดียวกันตรงที่แต่ละคนต่างก็มีอดีตอันแสนเศร้า ซึ่งบ่อนทำลายชีวิตของพวกเขามาจนปัจจุบัน จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหว

เมื่อนั้นเองที่ชีวิตของแต่ละคนแต่ละกลุ่มก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป

แม้แผ่นดินไหวจะเป็นภัยพิบัติที่น่ากลัว และดูจะส่งผลกระทบต่อใครอย่างใหญ่หลวง แต่เมื่ออ่าน After the quake จบลง ผู้เขียนเห็นว่าแผ่นดินไหวหาได้มีฤทธานุภาพเท่าการ “สั่นสั่ง”การของหัวใจเราเอง 6 เรื่องสั้นใน  After the quake ต่างพูดถึงปมอดีตภายในจิตใจของตัวละคร ซึ่งล้วนเป็นอดีตที่ผิดหวัง เศร้าสร้อย บอบช้ำ ไร้สุข เสมือนตายทั้งเป็นหรือ ?

ในความคิดของผู้เขียน อย่างหลังทุกข์ทรมานกว่าเยอะ มันไม่ต่างอะไรกับมีก้อนหินถ่วงค้างอยู่ในใจ จะทำอะไร จะใช้ชีวิตอย่างไรก็ถูกก้อนหินนั้นถ่วงไว้ตลอดเวลา ดังตัวเอกในเรื่อง “ประเทศไทย” ที่มีก้อนหินอยู่ในใจ “เธอบอกว่ามีก้อนหินอยู่ในร่างกายคุณ ก้อนหินสีขาวแข็งแกร่ง ขนาดประมาณกำปั้นเด็ก มีตัวอักษรบนก้อนหินนั้น ก้อนหินและข้อความจารึกนั้นดูเก่า เก่าแก่มาก คุณใช้ชีวิตร่วมกับก้อนหินในร่างคุณเป็นเวลานานมากแล้ว คุณจะต้องกำจัดก้อนหินนี้ออกไป ไม่เช่นนั้นหลังจากคุณเสียชีวิตแล้วถูกเผาก้อนหินนี้จะยังอยู่” อดีตที่ปวดร้าวไม่ต่างอะไรกับก้อนหิน มันเกิดจากความผิดพลาดในการสั่นสั่งการของหัวใจแต่ประเด็นก็คือ ตัวละครเลือกจะปล่อยให้ความผิดพลาดนั้นคงค้างเป็นก้อนหินอยู่ในใจ และเลือกจะทุกข์กับมันตลอดชีวิตของตน

จนกระทั่งแผ่นดินไหวเกิดขึ้น

มองในมุมหนึ่ง ก็คล้ายกับว่าแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินได้ส่งผลมายังอดีตภายในใจของพวกเขา ทำให้พวกเขาตระหนักถึงอดีตอันปวดร้าวนั้นชัดเจนอีกครั้ง พร้อมๆกันนั้น แผ่นดินที่ไหวก็ดูจะนำมาซึ่ง “สารบางอย่าง” ให้ตัวละครตระหนักรู้ถึงความจริงของชีวิต รวมไปถึง “โอกาส” ที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง ด้วยการ “สั่นสั่งการ” หัวใจ ให้ทิ้งก้อนหินในใจทิ้งไป และทำความฝันหรือสิ่งที่ต้องการให้เป็นจริงในที่สุด ซึ่งทั้งหมดนั้นแขวนโยงอยู่กับคำว่า “เลือก” คำคำเดียวที่มีอิทธิพลยิ่งต่อชีวิต ยิ่งกว่าแผ่นดินไหว ยิ่งกว่าภัยร้ายใดๆในโลก เพราะตัวละครล้วนเลือกที่จะจมอยู่กับอดีตที่ผิดหวัง ชีวิตของพวกเขาที่ผ่านมาจึงเหมือนตายทั้งเป็น ซึ่งก็คงจะดำเนินต่อไปเช่นนี้จนวาระสุดท้ายของชีวิต หากไม่เกิดแผ่นดินไหว ให้พวกเขาได้ตระหนักถึงความจริงของชีวิต

ซึ่งต่อจากนั้น ก็ล้วนขึ้นอยู่กับพวกเขาแต่ละคน(และแน่นอน หมายรวมถึงเราในฐานะผู้อ่านด้วย) ว่าจะเลือกจมตัวเองอยู่แบบเดิม หรือเลือกที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ จะตายซากไร้สุขจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิตหรือยิ้มน้อยๆไปกับชีวิตใหม่ ทั้งหมดเกิดได้จากการสั่นสั่งการของพื้นที่เล็กๆที่เรียกว่าหัวใจ

อ้างอิง : After the quake, ฮารูกิ มูราคามิ, คมสัน นัน : แปล, กายมารุต, 2546
Text : กิติคุณ คัมภิรานนท์

 

 

 

You may also like...