ความเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่เราทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ โลกไม่เคยหมุนตามใจเรา ต่อให้เราเป็นบุคคลสำคัญขนาดไหน หรือมีอัจฉริยภาพยิ่งใหญ่ถึงขนาดพลิกประวัติศาสตร์โลกได้อย่าง สตีฟ จ๊อบส์ หรือ ไอน์สไตน์ เมื่อเวลาของเราจบสิ้นลง โลกก็ยังหมุนต่อไปได้เรื่อยๆ
ข้อสงสัยที่ว่าเราควรจะวิ่งไล่ตามให้ทันอัตราการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยวิ่งสุดฝีเท้าให้เร็วกว่าจนเป็นผู้นำ หรือควรจะวิ่งทวนกระแสไปหาหนทางใหม่โดยไม่ต้องแข่งขันกับผู้อื่น เป็นเรื่องที่ใครๆ มักต้องหยุดถามตัวเองอยู่เสมอ ระหว่างการเดินไปสู่เป้าหมายของตน เช่นเดียวกับคนทำสื่ออย่างดิฉัน ซึ่งกำลังทำอาการเสมือนซอยฝีเท้าย่ำอยู่กับที่ ท่ามกลางข้อมูลอันดกดื่นจากทั้งสื่อมีสังกัดและสื่ออิสระนานาพันธุ์ที่กำลังวิ่งสวนแซงปรูดปราด
มีคนบอกว่า ต่อไปอาชีพสื่อมวลชนจะอยู่ยากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ ทำให้ประชาชนทุกคนมีความสามารถที่จะเป็นผู้สื่อข่าว และเป็นเรื่องจริงที่ทุกวันนี้ ดิฉันเองก็รับรู้ข่าวสารข้อมูลจากการ ‘ชอบ และ แบ่งปัน’ ของเพื่อนฝูงพอๆกับการติดตามข่าวจากผู้ผลิตสื่ออาชีพ แต่กระนั้นก็คงไม่ใช่เหตุผลว่า เมื่อทุกคนมีกล้องถ่ายรูปชั้นดีแล้วจะสามารถกลายเป็นช่างภาพอาชีพ หรือการมีหม้อ ตะหลิว หรือ เตาอบ จะทำให้เรากลายเป็นเชฟในชั่วข้ามคืน
ทุกวันนี้คนที่ทำกับข้าวได้ หรือแม้กระทั่งคนที่ร่ำรวยขนาดจ้างแม่ครัวสองสามคนไว้ประจำบ้าน ยังต้องกระเสือกกระสนแต่งตัวออกจากบ้านฝ่าฝนตกรถติดไปแย่งโต๊ะเก้าอี้ตามร้านอาหารรสเลิศ คนที่ร้องเพลงฟังเองได้พอไพเราะเสนะหู หรือสามารถดาวน์โหลด MV ของศิลปินนักร้องดังมาชมได้โดยไม่ต้องเสียสตางค์ ยังต้องแย่งกันซื้อตั๋วเพื่อไปเบียดกันดูคอนเสิร์ตของศิลปินคนโปรด และต่อให้คนทำหนังในโลกนี้มีมากแค่ไหน ทั้งหนังสั้น หนังยาว หรือแม้แต่หนังที่ถ่ายจากโทรศัพท์ ก็ไม่มีใครอยากดูหนังไม่สนุก ฟังเพลงไม่ไพเราะ หรืออ่านหนังสือห่วยๆ เพราะหัวใจสำคัญของการบริโภคสื่อ ไม่ใช่เครื่องมือหรือวิธีการ ที่เราจะสามารถเข้าถึงข้อมูลปริมาณมหาศาล แต่เป็นคุณภาพหรือสาระของมันมากกว่า
โดยความรู้สึกส่วนตัวแล้ว ดิฉันเสียดายยิ่งนักกับอายุการใช้งานที่แสนสั้นของสื่อสิ่งพิมพ์บางประเภท โดยเฉพาะนิตยสารชั้นเลิศหลายฉบับที่ดิฉันเป็นแฟนประจำ ในฐานะคนอ่านและคนทำหนังสือด้วยกันต่างก็รู้ดีว่า อายุการใช้งานเพียงชั่วรายเดือนหรือรายปักษ์ของนิตยสารบางเล่มนั้น ไม่ได้คุ้มค่าเอาเสียเลยกับต้นทุน แรงงาน และฝีมือ รวมถึงวัตถุดิบที่ต้องใช้ในการผลิต ต่างจากภาพยนตร์ที่สามารถเก็บมาดูซ้ำดูใหม่ได้เรื่อยๆ นิตยสารมักจะถูกทิ้งขว้างไปอย่างไร้ค่าเมื่อหมดวาระ ผู้คนอาจสะสมพ้อคเก็ตบุ๊คไว้บนหิ้งหนังสือในบ้านและสามารถหยิบยื่นให้กันต่อไปยังคนใกล้ชิดได้ด้วยคุณค่าทางความรู้สึกที่ไม่ลดทอน ทว่าปลายทางชีวิตรันทดของนิตยสารเก่าแสนงามกลับลงเอยกับรถซาเล้ง กดดันให้คนทำนิตยสารต้องหมอบคลานเข้าไปจูบเท้าคารวะต่อหนังสืออิเลคโทรนิคส์ที่เชื่อว่าอาจจะเป็นคำตอบสำหรับการอ่านในโลกยุคปัจจุบัน เมื่อป่าไม้ที่ใช้เวลาปลูกนับสิบๆปี อาจไม่คุ้มค่ากับการผลิตกระดาษเพื่อการอ่านที่มีระยะเวลาใช้งานเพียงไม่กี่วัน มิพักพูดถึงหนังสือพิมพ์แจกฟรีรายวัน
นั่นหมายถึงโลกได้เดินทางมาสู่วาระที่จะต้องยอมรับว่า สื่อสิ่งพิมพ์อายุสั้นอย่างหนังสือพิมพ์และนิตยสาร กำลังกลายเป็นสิ่งฟุ่มเฟือย
ใครจะไปรู้ว่าในอีกไม่ช้า การอ่านบนอุปกรณ์อิเลคโทรนิคส์จะกลายเป็นสื่อมาตรฐาน การอ่านด้วยกระดาษอาจจะเป็นสิทธิ์สงวนสำหรับคนรวย นิตยสารเล่มที่ยืนหยัดอยู่ได้นานสุดหลังการล้มตายของคู่แข่งอาจจะกลายเป็นสิ่งล้ำค่า เป็นสัญลักษณ์ของความหรูหราคลาสสิกที่บอกเล่าถึงประวัติศาสตร์ความฟุ้งเฟ้อของพลโลกก่อนจะถึงกาลล่มสลายของวัฒนธรรมการบริโภคแบบเดิมๆ ก็อาจเป็นได้
ณ วินาทีที่อะไรก็เป็นไปได้ทั้งนั้น ดิฉันตัดสินใจกระโดดขึ้นม้าไปกับเทคโนโลยีการอ่านของโลกอนาคต โดยแบกเอานิตยสารที่เป็นกล่องดวงใจพ่วงเอาไว้บนหลังไม่ทอดทิ้ง โดยหวังว่า ของรักที่แบกไว้ข้างหลังจะไม่หนักเกินจนถ่วงหรือรั้งให้เราหงายหลังล้มก้นจ้ำเบ้าสิ้นเรี่ยวแรงจะวิ่งต่อไปข้างหน้า
เรายังขยับแข้งขยับขากันต่อไปเรื่อยๆ แม้จะไม่รวดเร็วอะไรนัก แต่ก็ถือเป็นโชคดีจริงๆ ที่การเดินช้าๆ กลับทำให้เรามีเวลาคิดมากขึ้น
มีเวลาก้มมองจุดที่เรายืนให้ชัดเจน นอกเหนือจากการทอดสายตามองไกลๆ ไปสู่อนาคตที่ยังมาไม่ถึง
และการเพ่งพิจารณาจุดยืนของตัวเองนี้ ก็ช่วยให้เราไม่สับสนจนบังเอิญหลงลืมไปว่า
ถึงโลกจะเคลื่อนไปเร็วแค่ไหน โลกก็ยังคงอยู่ใต้ฝ่าเท้าของเราเสมอ
*****************
วรรณศิริ ศรีวราธนบูลย์
บรรณาธิการบริหาร