จตุรงค์ หิรัญกาญจน์ เริ่มเรียนรู้ศิลปะและการใช้ชีวิตแบบศิลปินมาตั้งแต่เข้าเรียนวิทยาลัยช่างศิลป์ กรมศิลปากร ซึ่งที่วิทยาลัยช่างศิลป์นั่นเองที่ทำให้เขาเริ่มสนใจการถ่ายภาพ และแม้นว่าในขณะนั้นจะยังไม่มีสถาบันใดเปิดสอนวิชาถ่ายภาพเป็นการเฉพาะ แต่เขาก็ตัดสินใจที่จะสอบเข้าเพื่อเรียนต่อในคณะมัณฑนศิลป์ ศิลปากรเพื่อลงเรียนวิชาถ่ายภาพที่เปิดสอนเพียงแค่สองตัวเท่านั้นเอง
จตุรงค์เล่าให้ฟังว่า “ ตอนนั้นยังไม่มีที่ไหนสอนวิชาถ่ายภาพเป็นวิชาเอก ถ้าจะมีเรียนก็คือขั้นพื้นฐานที่เป็นถ่ายภาพ 1 และถ่ายภาพ 2 นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้เลือกคณะ Dec ( Decoration ซึ่งหมายความถึงมัณฑนศิลป์) แต่ต่อจากนั้นก็เริ่มเรียนรู้ด้วยตัวเอง เข้าห้องสมุดแทบทุกวันเพื่อศึกษาต่อ เริ่มดูงานของศิลปิน ช่างภาพคนอื่นๆ จนกระทั่งเกิดแรงบันดาลใจ และนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไม ผมถึงอยากตีพิมพ์หนังสือรวมภาพถ่าย ก็เพราะอยากให้ในห้องสมุดมีหนังสือรวมผลงานภาพถ่ายที่เป็นคนไทยบ้าง ”
ในระหว่างที่เรียนอยู่ที่ศิลปากร ในช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อนครั้งหนึ่ง จตุรงค์กับเพื่อนที่มีความสนใจการถ่ายภาพก็ไปลงเรียนวิชาล้างอัดภาพที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพเพื่อเพิ่มเติมความรู้ ซึ่งหลังจากที่จบการศึกษาที่ศิลปากรแล้วก็เลยทำให้เขาตัดสินใจไปเรียนต่อยังประเทศอังกฤษ
“ ที่ผมได้มากกว่าการเรียนรู้ในห้องเรียนก็คือการที่ผมได้จากการเดินทาง การไปเรียนต่อที่อังกฤษ ไม่ได้หมายความว่าผมจะอยู่แต่ในประเทศอังกฤษอย่างเดียว แต่ถ้าผมว่างเมื่อไร ผมก็จะออกเดินทาง ดังนั้นงานส่วนใหญ่ก็มาจากการได้เดินทางไปเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในยุโรป ”
จตุรงค์เล่าให้เราฟังเกี่ยวกับงานชุดพระ (ที่เป็นงานที่มีแรงบันดาลใจมาจากงานชุด Portraits บางชิ้นในปี 1996) ว่า “ ผมสนใจที่จะศึกษาใบหน้าของผู้คนมาเป็นเวลานานแล้ว กระทั่งผมได้เดินทางและไปถ่ายเก็บภาพใบหน้าของพระพุทธเจ้าเมื่อหลายปีก่อนที่อยุธยา
“ ทำไมต้องเป็นพระ เพราะมันสืบเนื่องจากความสนใจในภาพถ่ายบุคคล ผมมักจะรู้สึกอะไรเสมอเวลาทำงานที่เกี่ยวข้องกับคน แต่ภาพบุคคลของพระพุทธเจ้าก็เป็นอีกแง่หนึ่ง คือผมเริ่มเห็นความเป็นมนุษย์ หรือความเป็นใบหน้านี้ที่เคยเป็นของเจ้าชายสิทธัตถะมาก่อน จากนั้นผมก็เลยนำมันมาวิเคราะห์
“ แต่ผมเป็นคนที่ทำงานในแต่ละชิ้นค่อนข้างกินระยะเวลานาน อย่างปรินท์ภาพนี่บางครั้งก็ใช้เวลาเดือนหนึ่งได้แค่ 2-3 ชิ้น หรือกระทั่งจนกว่าจะพอใจ บางครั้งก็ไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน อย่างงานชุดภาพถ่ายพระก็ใช้เวลา 3-4 ปี โดยที่ผมขับรถไปตามที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ตระเวนถ่ายไปเรื่อย ”
จตุรงค์อาจเป็นช่างภาพในจำนวนน้อยคนที่ยืนยันว่าศิลปะภาพถ่ายอาจเป็นศิลปะที่มีความเป็น Original ไม่ต่างไปจากภาพเขียน หรืออย่างน้อยต่อการทำงานชิ้นหนึ่งเขาได้พยายามแสดงให้ผู้ชมเห็นหรือเชื่อเช่นนั้น เขารียกเทคนิคหรือวิธีใช้ว่า การเขียนภาพด้วยแสง ( Paint with Light) ซึ่งแน่นอนไม่มีทางที่ภาพแต่ละภาพจะเหมือนกันโดยสมบูรณ์ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เขาได้ยืนยันอย่างหนักแน่นว่า “ ศิลปะการถ่ายภาพควรจะเรียกได้ว่าเป็นงานประณีตศิลป์ ”
สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในแนวคิดหรือแนวทางการสร้างสรรค์ของจตุรงค์ก็คือการร่วมวิพากษ์สังคมร่วมสมัย และลัทธิบริโภคนิยม ที่เขาเรียกว่าเป็นกากเดนที่แม้แต่ชาวตะวันตกเองก็ไม่เอา ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจเลยที่งานในชุดพระของเขาส่วนหนึ่งจะมีการสื่อถึง Logo หรือสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนลัทธิบริโภคนิยม นี่เป็นความจงใจ หรือความพยายามในการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะของศิลปินคนหนึ่ง
____________________________
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย