Charles Frederick Worth

คำว่า Haute Couture ที่เราแปลกันจนติดปากว่า แฟชั่นชั้นสูงนั้น มีต้นกำเนิดมาจากการตัดเย็บเสื้อผ้าชั้นดีตามสัดส่วนรูปร่างของผู้หญิงที่เป็นผู้สวมใส่ ตรงกันข้ามกับเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ถูกตัดเย็บตามไซส์มาตรฐาน

ซึ่งแน่นอนว่า ในยุคก่อนๆ ผู้ที่จะสามารถจ้างช่างตัดเสื้อเก่งๆมาออกแบบเสื้อผ้าสุดหรูที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเพียงหนึ่งเดียวให้กับผู้สวมใส่ ก็คงมีแต่สตรีชั้นสูงในราชสำนักหรือคนที่ร่ำรวยมหาศาลเท่านั้น และเราคงจะไม่มีคำว่า Haute Couture หรือแฟชั่นชั้นสูงถ้าปราศจาก Charles Frederick Worth ผู้ได้รับการขนานนามว่าเป็น บิดาแห่งแฟชั่นชั้นสูง

ก่อนยุค 1960 ปารีสเป็นผู้นำเทรนด์แฟชั่นในยุโรป ซึ่งเห็นได้ชัดจากการแต่งตัวแบบสุดฤทธิ์สุดเดชของเหล่าสาวฝรั่งเศสตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน ในขณะที่หมุดหมายอันเป็นรูปธรรมของแฟชั่นชั้นสูงจากอดีตมาจนปัจจุบันยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า เป็นสิ่งที่ควรจะอยู่หรือไป เพราะหากประเมินจากค่าใช้จ่ายในการสร้างสรรค์ที่สูงลิบลิ่วและฐานลูกค้าที่จำกัดแล้ว การดำรงอยู่ของการทำงานออกแบบที่เรียกได้ว่าเป็น Haute Couture แท้ๆ ย่อมจะไม่ใช่เรื่องง่าย อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์วงการแฟชั่นก็ได้บันทึกไว้ชัดเจนว่า ในช่วงก่อนยุค 1960 นั้น เหล่าดีไซเนอร์เสื้อผ้าชั้นสูงคือผู้มีอิทธิพลตัวจริงของวงการแฟชั่นโลก ในฐานะผู้มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างสรรค์เทร็นด์ใหม่ๆ ควบคู่ไปกับการพิฆาตเทร็นด์เก่าๆให้ล้มหายตายจากไปจากความนิยมเช่นเดียวกัน

Charles Frederick Worth เป็นดีไซเนอร์คนแรกที่จัดว่าเป็นดาวเด่นผู้สร้างชื่อโด่งดังไว้ในวงการแฟชั่น เขาเกิดในเมืองลินคอร์นไชร์ ประเทศอังกฤษ ในปี 1825 เมื่ออายุ 20 เขาก็ย้ายไปที่ปารีส ที่ซึ่งเขาตั้งร้านเสื้อผ้าในปี 1858 ซึ่งถือเป็นสตูดิโอแฟชั่นในยุคแรกๆของโลก

จักรพรรดินี Eugénie มเหสีของนโปเลียนที่ 3 เป็นหนึ่งในบุคคลผู้เป็นกำลังสำคัญที่ให้ความสนับสนุนแก่ Charles Frederick Worth ไม่นานหลังจากนั้น Worth ก็กลายเป็นที่รู้จักในสังคม เขาสร้างชื่อในการออกแบบชุดออกงานให้พวกเชื้อพระวงศ์, ขุนนาง, นักแสดงและบรรดาผู้มีอันจะกินทั้งหลาย ธุรกิจของเขาดีขึ้นเรื่อยๆ Worth มีงานเสื้อผ้าชั้นสูงสำหรับคนชั้นสูงกระเป๋าหนักล้นมือเสียจนไม่มีเวลาสำหรับการออกแบบแฟชั่นในระดับธรรมดาสามัญ หรือแม้แต่องค์ประกอบเล็กๆน้อยๆ จำพวกผ้าคลุมไหล่ หมวกบอนเน็ต และของโก้เก๋อื่นๆ เขามุ่งมั่นในการออกแบบชุดชั้นสูงสุดหรูที่บรรจงตัดเย็บอย่างประณีตให้ตอบสนองเส้นสายสรีระของผู้หญิงโดยเฉพาะด้วยเนื้อผ้าชั้นเลิศที่สุดเท่าที่จะหาได้ และโลกไม่เคยลืมผลงานออกแบบตัดเย็บชุดราตรีผ้าทูลสีขาว ซึ่งเป็นหนึ่งผลงานสำคัฐในประวัติศาสตร์ศิลปะแฟชั่นชั้นสูงที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่นของเขา


อุตสาหกรรมแฟชั่นชั้นสูงในปัจจุบันนับเป็นผลงานที่น่าภูมิใจของ Worth เขาเป็นผู้ริเริ่มที่ยิ่งใหญ่ ในฐานะดีไซเนอร์คนแรกที่แสดงผลงานเสื้อผ้าลงบนตัวคนจริงๆ และเป็นคนแรกที่มีการจัดแสดงผลงานแฟชั่นคอลเลคชั่นใหม่ในทุกๆ ปี เสื้อผ้าของเขาถูกปรับแต่งให้เข้ากับลูกค้าแต่ละราย และแก้ไขไปตามร่างกายที่เปลี่ยนแปลงของพวกเธอ Worth ถึงกับเคยเซ็นชื่อของเขาลงไปบนชุดเหล่านั้น เช่นเดียวกับศิลปินผู้จารึกเส้นสายลายมือเอาไว้บนภาพเขียนอันเป็นอมตะ

บรรดาสาวกแฟชั่นผู้สืบทอดอุดมการณ์ของ Worth ได้มารวมตัวกันในปี 1910 เพื่อก่อตั้งสมาคมแฟชั่นชั้นสูงในปารีส สมาคมนี้มุ่งโปรโมตเสื้อผ้าชั้นสูงของพวกเขาอย่างต่อเนื่องในตลาดต่างประเทศ และปูทางให้กับการแสดงแฟชั่นโชว์ชั้นสูงในปัจจุบัน ซึ่งจะมีการจัดอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นทุกๆ 2 ปี ณ กรุงปารีส

ก่อนปี 1990 สมาคมแฟชั่นชั้นสูงมีกฏระเบียบที่เข้มงวดมากในการเข้าร่วม แต่กฎเหล่านั้นก็ถูกผ่อนผันลงเพื่อรับดีไซเนอร์รุ่นใหม่ๆ เข้ามา เช่น John Galliano ที่ออกแบบให้ Christian dior หรือแม้แต่ดีไซเนอร์ที่จัดว่าเป็นพวกนอกกระแสอย่าง Jean Paul Gaultier และ Viktor & Rolf ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กฏเกณฑ์ในการพิจารณาจัดกลุ่มผลงานออกแบบแฟชั่นชั้นสูงในยุคนี้ไม่ได้เข้มงวดหรือตายตัวเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว และอาจอนุมานได้ว่า แฟชั่นชั้นสูงยุคใหม่นี้เกิดจากการผสมผสานอย่างหลวมๆ ระหว่างความแปลกแหวกแนว และชิ้นส่วนที่ใส่ได้จริง บนพื้นฐานการทำงานออกแบบตัดเย็บที่เปี่ยมทักษะพิถีพิถันของผู้เชี่ยวชาญด้านแฟชั่น แม้มาตรฐานที่ชัดเจนความเป็นแฟชั่นชั้นสูงในปัจจุบันจะยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ แต่สีสันและความสร้างสรรค์ของมันก็เป็นสิ่งที่ยากต่อการปฏิเสธ ซึ่งก็ทำให้โลกแฟชั่นยังคงเพรียกหาแนวคิดใหม่ๆ สำหรับ Haute Couture ในยุคสมัยของตนอยู่เสมอ

อ้างอิง : 100 IDEAS THAT CHANGED FASHION

ผู้เขียน : HARRIET WORSELEY

เรียบเรียง : วีร์ ศรีวราธนบูลย์

You may also like...