ในแวดวงแฟชั่น เมื่อเราเอ่ยชื่อ ณัฐ ประกอบสันติสุข น้อยคนนักที่จะไม่รู้จัก เพราะเขาจัดเป็นช่างภาพหัวก้าวหน้ารุ่นแรกๆ ที่มีส่วนอย่างมากในการผลักดันและเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมงานถ่ายแบบเดิมๆ ให้เป็นงานที่มีสไตล์ จนสามารถเทียบชั้นได้กับนิตยสารชั้นนำระดับนานาชาติ แต่นอกเหนือจากภาพความสำเร็จที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้ ใครบ้างที่จะรู้ว่าก่อนที่ณัฐจะกลายมาเป็นช่างภาพมืออาชีพ เขาเดินมาสู่เส้นทางนี้ได้อย่างไร
ณัฐ ประกอบสันติสุข จบการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เขาเล่าให้ฟังว่า สาขาวิชาที่เขาเรียน ถือเป็นพื้นฐานของทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำอยู่ในทุกวันนี้
“ มันเป็นวิชาที่ว่าด้วยพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ เด็กๆ เราก็ไม่ค่อยเข้าใจหรอก กระทั่งเมื่อเรียนจบไปแล้ว เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่นั่นแหละ
“ อย่างถ้าเราพูดถึงนวนิยาย นิยายส่วนใหญ่ก็สร้างขึ้นจากเรื่องจริงแทบทั้งนั้น หรือถ้าจะเป็นจินตนาการของผู้แต่ง จินตนาการนั้นก็มักจะมาจากความหวังของผู้แต่ง ความเศร้า ความต้องการ ความผิดหวังของมนุษย์แทบทั้งนั้น เพราะฉะนั้นอักษรศาสตร์จึงเป็นพื้นฐานของอีกหลายวิชา คือพอจบมาแล้วทำงานไป เราก็พบว่า คือไม่อยากจะบอกหรอกนะว่า เป็นคณะที่ดีที่สุด แต่อยากจะบอกว่าดีมากๆ เพราะวิชาต่างๆ ที่เรียนก็จะนำเสนอในเรื่องความเป็นมนุษย์ ฉะนั้นมันจึงเป็นพื้นฐานของการทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ได้มาก ซึ่งก็รวมทั้งวิชาจิตวิทยา การละคร ที่มีส่วนช่วยในเรื่องของการถ่ายรูปได้ทั้งสิ้น
เมื่อพูดถึงแฟชั่น ที่ดูเหมือนจะอยู่นอกเหนือสาขาวิชาที่ณัฐเรียน เขาอธิบายว่า “ จริงๆ แล้วแฟชั่นก็ไม่ได้เป็นเรื่องที่ไกลมาก เพราะตอนที่เรียนอยู่ พอขึ้นปีที่ 3 ผมก็ทำงานหาประสบการณ์ หาเงินเองอะไรแบบนี้ ผมก็ไปทำฝ่ายเสื้อผ้าให้กับละครโทรทัศน์หลายเรื่อง ทั้งช่อง 7 , ช่อง 5 หรือช่อง 3 เพราะฉะนั้นเราเองก็ชอบในเรื่องนี้อยู่แล้ว
“ ฉะนั้นมันจึงไม่ได้ไกลมาก เพียงแต่เราไม่ได้อยู่ในแวดวงธุรกิจแฟชั่น เราก็เลยยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร ตอนแรกที่เข้าไปเป็นสไตลิสต์ ก็ไม่รู้เลยนะ จนทำไปได้สักระยะหนึ่ง เราก็ได้เข้าไปอยู่ในธุรกิจแฟชั่น คือด้วยเนื้องานมันอาจจะต่าง แต่ด้วยหลักการแล้ว อาจจะไม่ต่างกัน มันก็เหมือนกัน ทั้งการจะเรียนรู้ การจะแสวงหาความรู้ การจะฉกฉวยโอกาส มันเหมือนกันทั้งสิ้น คือเป็นแค่ธุรกิจแขนงหนึ่งเท่านั้นเอง
“ ผมก็เลยปรับตัวได้ง่าย เพียงแต่ว่า ตอนที่เปลี่ยนจากการเป็นสไตลิสต์มาเป็นช่างภาพนี่ มันก็เกิดจากสาเหตุ หนึ่งก็คือเริ่มรู้สึกว่า ไม่มีทางไป ตัน คุยกับคนไม่รู้เรื่อง ตอนนั้นเป็นความรู้สึกที่แย่มาก ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ดี ไม่ใช่เก๋เสียจนคุยกับใครไม่รู้เรื่อง ไม่ใช่อย่างนั้น คือเรารู้สึกแค่ว่า เราต้องไปแสวงหาความรู้ใหม่ พอเราย้อนกลับไปดูตัวเราตอนนั้น ก็ค้นพบว่า เรากำลังอยู่ในภาวะที่ดิ้นรน หาสิ่งใหม่ๆ ให้กับชีวิต แล้วเราก็ดิ้นรน โดยลืมมองสิ่งรอบๆ ข้างไป เราเอาตัวเราเองเป็นที่ตั้ง ก็เลยคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ซึ่งมันเป็นปัญหาของเรา
“ การที่เราไปเมืองนอกไม่ได้แปลว่าเราไปแล้วฉลาดขึ้น คุยกับคนอื่นรู้เรื่อง แต่การได้ไปใช้ชีวิตเมืองนอกนี่ มันทำให้เราได้หันกลับมามองตัวเราเองจริงๆ ที่ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากจะเป็น แต่เป็นสิ่งที่เราเป็นจริงๆ เหมือนอย่างตอนที่เป็นสไตลิสต์รู้สึกว่าตัน ไปไหนไม่รอด ในขณะที่ทำงานมา 8 ปี แต่ตอนนี้ทำงานถ่ายรูปมา 13-14 ปี หรือ 15 ปีแล้วมั้ง แต่ไม่เคยรู้สึกแม้สักครั้งเดียวว่าตัวเองตัน เอนจอยกับมันในแทบทุกขณะจิต สนุกมาก ไม่ว่าจะได้เงินมากเงินน้อยอะไรตอนนี้ สนุกสนานที่จะทำงาน สนุกสนานที่จะถ่ายรูป ก็เลยรู้สึกว่า มันเป็นสิ่งที่เราเลือก และเป็นสิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นตัวเรามากๆ
“ ตอนแรกก็คิดว่า จะไปเรียนทางด้านสไตลิสต์ เพราะดูนิตยสาร ID หรือ THE FACE แล้วคิดว่าทำไมมันถึงคิดงานแบบนี้ออกมาได้ ไม่เข้าใจ เพราะเป็นคนที่ไม่มีพื้นฐานอย่างที่เขามี ผมไม่ได้คิดว่าทำไมเขาเก่งจัง ไม่เคยมีคำว่า เก่ง เจ๋ง อยู่ในหัวเลยนะ คิดแต่ว่า เราไม่เข้าใจ นิตยสาร VOGUE หรือ ELLE อะไรแบบนี้ เราเข้าใจได้ เพราะมันเป็นทิศทางเดียวกับความคิด แต่สำหรับ ID หรือ THE FACE เป็นสิ่งที่อยู่เหนือกว่าความคิดเรามาก คือมันคิดงานแบบนี้ออกมาได้อย่างไร? โดยพื้นฐานอะไร?
“ ดังนั้นสิ่งเดียวที่เราจะสามารถเข้าใจมันได้ เหมือนเช่นที่คุณอยากจะรู้ว่าศาสนาคริสต์คิดอย่างนี้ได้อย่างไร ทำไมถึงมีม็อตโต้แบบนี้ ทางเดียวก็คือ คุณก็ต้องไปคุยกับชาวคริสต์ คุณก็ต้องไปโบสถ์ คุณก็ต้องไปสัมผัส เพื่อว่าคุณจะได้เข้าใจถึงจิตวิญญาณของเขา
“ ส่วนผมทำอย่างไร ผมก็ต้องไปอังกฤษ เพื่อจะได้ไปเข้าใจจิตวิญญาณของสังคม คุณก็รู้ว่า ID หรือ THE FACE มันเป็นนิตยสารที่รองรับสังคมวัยรุ่นของอังกฤษโดยเฉพาะ สิ่งเดียวที่จะทำให้เข้าใจได้ก็คือไป แต่คอร์สที่ผมเรียนจะเป็นคอร์สแบบ certificate คือใช้เวลาแค่ปีเดียว แต่ถ้าจะเป็นระดับปริญญาก็จะต้องใช้เวลาถึง 3 ปี
“ อย่างน้องๆ หลายคนก็มักจะถามว่า ทำอย่างไรถึงจะได้ถ่ายรูป? หรือ อยากถ่ายรูปจะทำอย่างไร? คำตอบก็ไปถ่ายไง ง่ายนิดเดียว คือง่ายที่สุดเลยคุณก็ถ่ายรูป ถ้าคุณไม่ถ่าย แล้วคุณจะรู้ไหม ที่ทำมาทั้งหมดในชีวิต ผมขอบอกอย่างเต็มปากเต็มคำว่า เป็นการเรียนรู้ด้วยตัวเองทั้งหมด ”
ส่วนถามว่า นอกเหนือจากงานประจำที่ทำอยู่ ณัฐเคยอยากจะทำงานส่วนตัวที่เป็นงาน Fine Art บ้างไหม เขาให้คำตอบว่า “ เคยอยากเป็นช่างภาพที่เรียกว่า ช่างภาพศิลปิน แต่ขอบอกเลยว่า ผมไม่ใช่ จากสิบกว่าปีที่ถ่ายภาพมา ก็ค้นพบว่า ตัวเองเป็น commercial artist มากๆ คือผมสามารถที่จะใส่ให้งาน commercial ดูประหลาดมหัศจรรย์ ยากต่อการเข้าใจได้ง่าย คือผมเป็นคนที่ทำอะไรต้องมีโจทย์ จากการเรียนอักษรศาสตร์ คล้ายกับอยู่ดีๆ เราจะไปวิจารณ์ใครสุ่มสี่สุ่มห้าไม่ได้
“ เช่นมีโจทย์มาให้วิจารณ์วรรณกรรมของมาร์ติน อามิส, เจมส์ จอยส์อะไรก็ว่าไป ก็ต้องมีโจทย์มา สมมุติให้วิจารณ์เจมส์ จอยส์ อยู่ดีๆ เราจะไปวิจารณ์ว่า เจมส์ จอยส์ใช้ภาษาวกวน หรือไม่ถูกต้องตามอักขระวิธี คือจู่ๆ จะไปวิจารณ์แบบนั้นไม่ได้ แต่เราต้องรู้ก่อนว่าเจมส์ จอยส์เป็นใคร เป็นนักเขียนที่อยู่ในช่วงเวลาไหน คือต้องเป็นโจทย์ที่มีที่มาที่ไปแน่นอน
“ คือถึงเวลางานที่เป็นศิลปะมากๆ เราก็ไม่รู้อยู่ดีละว่าอะไรคือศิลปะ เดี๋ยวนี้มันก็แทบเรียกได้ว่า…คือเมื่อก่อนชีวิตคือภาพสะท้อนของศิลปะ แต่เดี๋ยวนี้ศิลปะคือภาพสะท้อนของชีวิต เสียเป็นส่วนใหญ่แล้ว มันบอกลำบาก แล้วถ้าจะเรียกว่าเป็นช่างภาพศิลปะก็คงไม่ได้เป็นหรอก อย่ามาคาดหวังเลย หรือใครจะบอกว่าเป็นก็เชิญมองไปเถิด เพราะผมจะบอกตัวเองว่าไม่เป็น ”
_____________________________
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย