หากจะจัดอันดับประเทศคู่แค้นในโลก สหรัฐอเมริกา กับ อิหร่าน น่าจะเป็นมวยคู่เอกในเวที แต่น้อยคนจะรู้ว่าจุดเริ่มต้นของความแค้นที่นั้นเริ่มมาจากเมื่อใด
ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1951 ดร.มุฮัมหมัด มูซัดเดก ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอิหร่านได้ยึดบริษัทน้ำมันของอังกฤษและสหรัฐฯกลับไปเป็นสมบัติของชาวอิหร่าน ทำให้ชาติตะวันตกต่อต้านเขา สหรัฐฯดำเนินการใต้ดินโค่นล้ม ดร.มุฮัมหมัด พร้อมกับสนับสนุน ชาห์โมฮัมหมัดเรซา ขึ้นเป็นผู้นำในระบอบกษัตริย์แทน
ชาห์โมฮัมหมัดเรชา เปิดอิหร่านสู่โลกทุนนิยม นำเข้าสินค้าและวัฒธรรมจากตะวันตก ว่ากันว่าอาหารบางมื้อของเขาสั่งตรงมาจากฝรั่งเศส ขณะที่ประชาชนชาวอิหร่านกำลังอดอยากจนเกิดกระแสลุกฮือประท้วงไปทั่วประเทศ บ้านเรือนชาวอเมริกันถูกเผาทำลาย ฝ่ายภักดีต่อชาห์โมฮัมหมัดเรชาถูกสังหาร ต่อมา อายะตุลลอฮ์ โคมัยนี กลับเข้าประเทศพร้อมกับก่อการปฏิวัติอิสลาม ฟางเส้นสุดท้ามาขาดเมื่อ ชาห์โมฮัมหมัดเรชา ลี้ภัยไปสหรัฐฯ หลังข้อเรียกร้องให้ส่งตัวกลับไม่เป็นผล นักศึกษาและประชาชนชาวอิหร่านจึงบุกเข้าสถานทูตสหรัฐฯและจับชาวอเมริกัน 52 เป็นตัวประกัน
นี่คือจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งอันยาวนานของสองชนชาติและเป็นจุดเริ่มต้นของหนังเรื่อง Argo โดยวันที่ 4 พฤศจิกายน 1979 วันที่สถานทูตสหรัฐฯประจำอิหร่านถูกยึด เจ้าหน้าที่ 6 คนสามารถหนีการจับกุมของคณะปฏิวัติไปซ่อนที่บ้านทูตแคนาดาได้ เมื่อข่าวนี้รู้ถึงทางการสหรัฐฯ CIA จึงได้รับมอบหมายให้หาทางที่จะช่วยพวกเขาออกจากกรุงเตห์ราน แน่นอนมันเป็นภารกิจที่ยากพอๆกับการขโมยสัตว์ออกมาจากสวนสัตว์ เพราะเวลานั้นอย่าว่าแต่ชาวสหรัฐฯเลย แม้แต่ชาวยุโรปก็ย้ายออกจากอิหร่านไปหมดแล้ว แค่การออกไปเดินบนถนนเป็นเรื่องเสี่ยงมาก
แผนการณ์ต่างๆถูกเสนอทั้ง การให้ทั้ง 6 ปั่นจักรยานข้ามพรมแดน การปลอมตัวเป็นครูสอนภาษา ทว่า โทนี่ เม็นเดส (เบน แอฟเฟล็ก)ซีไอเอเจ้าของฉายา จอมสกัด ไม่เห็นด้วย เขาเสนอไอเดีย แกล้งสร้างหนังปลอม แม้ว่าหลายคนจะไม่เอาด้วยในตอนแรก แต่ทางการสหรัฐฯก็ไม่มีทางเลือกมากนักในตอนนั้น พวกเขาต้องทำงานแข่งกับเวลาเนื่องจากกลุ่มปฏิวัติอิหร่านเริ่มระแคะระคายแล้วว่ามีเจ้าหน้าที่หายไป 6 คน ซึ่งหากโดนจับได้พวกเขาอาจถูกสังหารทันทีด้วยข้อหาที่ยัดเยียดว่าเป็นสายลับ
วิธีที่โครตอเมริกันอย่างการสร้างหนังจึงกลายเป็นทางออกที่แย่ที่สุดในตอนนั้น เม็นเดส เดินทางไปฮอลลีวู้ด เพื่อขอความช่วยเหลือกับ จอห์น แชมเบอร์(จอห์น กู้ดแมน) โปรดิวเซอร์ และ เลสเตอร์ ซีเกล (ผู้อำนวยการสร้าง) ให้โกหกคำโตด้วยการทำหนังหลอกๆขึ้นมา เม็นเดส เลือก Argo ภาพยนตร์แนวไซไฟที่มีโลเคชั่นถ่ายทำในทะเลทรายเป็นใบเบิกทางในการพาตัว 6 เจ้าหน้าที่สถานทูตออกจากประเทศอิหร่าน โดยปลอมตัวเป็นทีมสร้างหนังจากแคนาดาที่มาดูโลเคชั่นในอิหร่าน
หนังทำให้คนดูลุ้นได้ตลอดทั้งเรื่อง เบน แอฟเฟล็ก (Gone Baby Gone,The Town) แจ้งเกิดเต็มๆกับการกำกับเรื่องนี้ ส่วนในฐานะนักแสดงนำยิ่งต้องยกนิ้วให้กับการแสดงที่ได้อารมณ์มาก หนวดเคราที่ไว้สร้างบุคลิกสายลับได้ดี ไม่แปลกใจเลยหากจะมีชื่อเขาเข้าชิง 2 สาขาในการประกาศรางวัลออสการ์คราวหน้า ต้องชมบทหนังของ คริส โทริโอ ที่เขียนออกมาได้เข้มข้นน่าติดตามมาก ขณะเดียวกันก็มีการเสียดสีสหรัฐฯเรื่องการแทรกแซงชาวบ้านและการโกหกของชาวฮอลลีวู้ดได้แบบเจ็บแสบ
กระนั้น ตัวหนังยังมีส่วนที่เชิดชูความเป็นอเมริกันชนและประกาศเกียรติคุณของรัฐบาลสหรัฐฯอยู่บ้าง นักแสดงทุกคนในเรื่องเล่นออกมาได้ดี อาจเพราะมันสร้างมาจากเรื่องจริงทำให้เนื้อหาของหนังมีนํ้าหนัก น่าเชื่อถือ แต่ด้วยเทคนิคการเล่าเรื่องแบบมีชั้นเชิงทำให้แม้คนที่รู้บทสรุปมาแล้วก็ยังต้องลุ้นไปกับตัวละครจนวินาทีสุดท้ายอยู่ดี
ที่ยอดเยี่ยมอีกอย่างคือฉากและเครื่องแต่งกาย อุปกรณ์ ซึ่งต้องบอกว่าครบถ้วนจนผู้ชมไม่มีข้อสงสัยเลยว่าเนื้อหาในหนังย้อนไปเมื่อเกือบ30ปีมาแล้ว เพราะทุกอย่างต่างสอดรับกัน (ตอนท้ายเครดิตมีการนำภาพเหตุการณ์จริงกับภาพในหนังมาเปรียบเทียบทั้งตัวละครและฉากคล้ายกันมาก)
จุดไคลแม็กซ์ของหนังทำให้เราอดดีใจไปกับความสำเร็จของภารกิจไม่ได้ เรื่องดังกล่าวถูกปกปิดมาตลอด เพิ่งได้รับการเปิดเผยเมื่อไม่นานมานี้ ส่วนตัวเห็นว่าอย่างหนึ่งที่ทำให้สหรัฐฯเป็นชนชาติที่ยิ่งใหญ่จนถึงทุกวันนี้เพราะพวกเขาให้ความสำคัญกับชีวิตคนเป็นที่หนึ่ง งบประมาณหรือความเสี่ยงอันตราย เป็นเรื่องรอง อีกข้อคือพวกเขามีอาวุธที่ทรงพลังที่สุด นั่นก็คือ ภาพยนตร์
By : นกไซเบอร์
ติดตามต่อได้ที่ : http://cyberbird.exteen.com/20121012/argo-4-5
สิทธิโชติ สุภาวรรณ์ (นกไซเบอร์ )
จบด้านขีดๆเขียนๆ ตอนนี้ทำงานเกี่ยวกับโลกไซเบอร์ เป็นคนชอบดูหนังมาก ดูได้ทุกแนว เมื่อดูจบแล้วมีอะไรค้างคาในใจก็จะมาระบายออกลงในบล็อกส่วนตัวเงียบๆ ใช้นามปากกาว่า นกไซเบอร์