ณัฐนลิน

ความเป็นมาของณัฐนลิน

 

เรียนจบมัธยมปลายที่โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ไม่ได้เป็นเด็กตั้งใจเรียนมาก เกเรมาตลอด ในช่วงวัยเรียนในเมืองไทยที่จำได้ก็แค่ ม. ห้า เป็นช่วงเดียวที่ตั้งใจเรียน พอเข้ามหาลัย จากการที่เที่ยวมาโดยตลอด ก็เลยไม่ได้ตั้งใจเรียน เพื่อนโดยส่วนใหญ่ก็จะเลือกเรียนนิเทศศาสตร์ บริหาร แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่ชอบ ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะเรียนอะไร 

 

แต่น้องชายบอกว่า ถ้าเป็นคนชอบเที่ยวก็น่าจะเรียนถ่ายรูป เพราะได้เที่ยวไป ถ่ายรูปไป ก็ดีกว่าไปเรียนบัญชี บริหารคือไม่ชอบ เลยเข้ามหาลัยรังสิต คณะจิตรกรรม สาขาภาพถ่าย ปี 39 แต่ด้วยความที่เป็นเด็กเกเรก็เลยยังเที่ยวอยู่ เลยโดนรีไทร์ เทอมแรกได้เกรดเฉลี่ยไม่ถึงเกณฑ์ ได้ศูนย์กว่าๆ มีเรียนวาดเส้น (drawing)ทำโน่นทำนี่ เราก็ยังติดเพื่ออยู่ เพื่อนส่วนมากก็เรียนอยู่มหาลัยอื่นๆ กัน ส่วนเราเรียนมหาลัยรังสิต พอเพื่อนโทรมาก็เก็บกระดานดรอว์อิ้งไปเที่ยว ไปเรื่อย

 

ในช่วงระหว่างรีไทร์ พ่อแม่ซึ่งเป็นคนที่มีความเข้าใจสูง ก็เลยถามว่า อยากเที่ยวใช่ไหม? ก็เลยให้ไปเที่ยวปีหนึ่งเต็มๆ เที่ยวอย่างเดียว คือไปอยู่ต่างจังหวัด ไปเที่ยวเมืองกาญจฯ อะไรอย่างนี้ ไปเที่ยวคนเดียว หรือบางทีก็ไปกับพวกบ้าง อาทิตย์หนึ่งเข้าบ้านเปลี่ยนเสื้อผ้า ออกไปใหม่ วันๆ ใช้ชีวิตไร้ค่ามาก ตื่นขึ้นมาขับรถเล่น แต่วันหนึ่ง มองเห็นเด็กๆ ที่ไม่มีเสื้อผ้าจะใส่ มีชีวิตความเป็นอยู่ลำบาก ส่วนเรามีโอกาสดีกว่าเด็กๆ พวกนั้นตั้งเยอะ เลยเกิดคำถามว่า ทำไมเราไม่เรียนหนังสือ? จากนั้นก็ขึ้นรถกลับกรุงเทพฯ ไปนั่งเรียนพิเศษ เรียนกวดวิชาฆ่าเวลา แล้วก็เลยบอกกับที่บ้านว่า โอเค ตอนนี้ตั้งใจเรียนแล้ว เลือกคณะเดิม สาขาเดิม

 

พอกลับเข้าไป ก็เรียนได้ดี ได้เกรดเฉลี่ยสามกว่า คือหน้าที่เราตอนนั้น อายุเท่านั้นคือเรียนไป เกรดเฉลี่ยตอนนั้นได้ดี เพียงแต่ก็ยังเที่ยวเหมือนเดิม คือเที่ยวในยุคที่ข้าวสารยังเปิดยี่สิบสี่ชั่วโมง นั่งกอดขวดเหล้าอยู่แถวๆ นั้นจนเช้า แต่ก็ยังทำงานส่ง จนรู้สึกว่า อยากไปซัมเมอร์ ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่อยากไปตั้งแต่เด็กๆ แล้ว คือตอนนั้นยังเป็นคนที่ดื่มหนักสูบหนัก แม่ก็เลยบอกว่า แลกกันให้เราไปเรียน แต่เราต้องเลิกบุหรี่ให้แม่ ซึ่งเรามาทราบที่หลังว่าแม่ต้องการให้เราเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ก็เลยเป็นที่มาของการไปเรียนต่อที่ฝรั่งเศส เพราะฉะนั้นรังสิตจึงเรียนแค่สองปี แล้วก็ไปเรียนที่ฝรั่งเศสเลย คือเรียนภาพถ่าย เป็นสายตรงเลย นี่คือความเป็นมาของการเรียนโฟโต้ค่ะ

 

ทำไมถึงเป็นงานขาวดำ?

 

คือที่จริงงานทุกวันนี้ที่รับอยู่ก็เป็นงานสี เพียงแต่เป็นงานตามสั่ง เพียงแต่งานขาวดำเป็นงานส่วนตัว เป็นงานที่เราสามารถมองเห็นขั้นตอนทุกอย่าง การล้าง อัด ขยาย ส่วนงานถ่ายสีเราต้องให้คนอื่นทำ งานขาวดำเราได้ทำหมดทุกอย่าง มันเหมือนกับเป็นงานแฮนด์เมด งานขาวดำจึงเหมือนเป็นงานหลักที่ถ้ามีเวลาจะทำ เพราะการได้เข้าห้องมืด เป็นเหมือนการฝึกสมาธิ ได้อยู่คนเดียว ได้ปรินท์รูป มันเหมือนกับการลงสี การเพนท์

 

เหมือน ‘ขาว’ กับ ‘ดำ’ ของ ‘ภาพขาวดำ’ ไม่ได้มีแค่ ‘ขาว’ กับ ‘ดำ’ มันมีโทน (Tone) อยู่ในภาพ เราจะระบายอย่างไรให้ภาพมีน้ำหนักมีปริมาตร (Volume) คนทั่วไปที่ดูงานขาวดำไม่เป็น เขาก็จะคิดว่างานขาวดำมีแค่สองสีคือขาวกับดำ แต่ถ้าคนที่ดูงานขาวดำเป็นก็จะรู้ได้เลยว่าเป็นงานที่ปรินท์ดีปรินท์ไม่ดี มันจะมีค่าต่างในภาพของเขา คือจะมีโทนหนักเบา เทากี่เปอร์เซ็น? ตรงนี้เทายี่สิบ ตรงนี้เทาสามสิบ ดำแปดสิบ ดำห้าสิบ ขาว ขาวไม่สุดนะ

 

โดยส่วนตัวงานขาวดำจึงค่อนข้างโดดเด่นนิดหนึ่ง ส่วนงานสีจะไม่ค่อยอะไรมาก ทำเหมือนกัน แต่ว่า ทำตามสั่งมากกว่า ถามว่าทำได้ไหม? ทำได้ทำได้หมด แต่ชอบงานขาวดำมากกว่า

 

มีแนวคิดหรือแรงบันดาลใจในการถ่ายภาพอย่างไร?

 

มีหัวเรื่อง มีหัวข้อ มีภาพในหัว เราก็จะรู้ว่าเราจะทำอะไร เป็นงานคอนเซ็ปท์ อย่างในนัทนลินเล่ม 14 งานล่าสุดเป็นชุดแรกที่ทำกับคนไทย ชื่อชุดว่า “ผู้หญิงไม่มีหัวนม” งานส่วนใหญ่จะมีบทความประกอบด้วย คือมีที่มาที่ไป อย่างไปคุยมา คนนี้คนนั้นเขาพูดอะไร คนนั้นเป็นอย่างนี้ คนนี้เป็นอย่างนั้น เราก็จะกลับมานั่งนึกๆ เป็นภาพในหัว แล้วทำเป็นงานออกมา

 

งานของคุณโดยมากแล้วเป็นการถ่ายภาพหุ่นนิ่ง (still life)

 

จะเรียกว่าเป็น still life ก็ได้ อย่างภาพไม่ว่าจะเป็นงานดอกไม้ ก็จะเป็นการจัดวางหมด คือเรายืมนางแบบที่มีชีวิตจริงๆ มา แต่เรายืมเพียงแค่ร่างกายเขามา แล้วเราก็จัดองค์ประกอบ (Compose) เอง จัดท่าเอง งานส่วนใหญ่จึงมาจากภาพในหัว ซึ่งพอเกิดภาพในหัวแล้ว เราก็จะเข้าสตูดิโอ ซึ่งไม่เหมือนงานประเภทสารคดี (document) ซึ่งต้องใช้อารมณ์จริงๆ แต่จะเป็นงานอีกประเภทหนึ่งที่ทำเวลาเดินเล่น จะไม่ได้ทำจริงจัง แต่จะเป็นการใช้กล้องคอมแพ็คถ่าย ชอบเหมือนกันค่ะ สำหรับงานแนวนี้แต่เป็นงานแนวที่ยาก คือตัวเองมีความถนัดงานอยู่หนึ่งด้าน แต่ก็จะชอบเสพงานพวกนี้ ฉะนั้นในแม็กกาซีน นัทนลิน ก็จะเห็นได้ว่าจะหนักไปในงานแนวสารคดี แนวบันทึก ชอบงานแนวนี้ ทำบ้างแต่ว่าไม่เก่งค่ะ ไม่ค่อยถนัดเท่าไร?

 

_______________________________

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS

ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

You may also like...