สายน้ำกับความเปลี่ยนแปลง แหล่งชุมชนช่างโบราณ จุดยุทธศาสตร์สามราชธานี
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เริ่มดำเนินโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครขึ้นครั้งแรก ในพื้นที่ 4 เขตนำร่อง
ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางกอกน้อย และเขตบางขุนเทียน ต่อมาปี พ.ศ. 2547 ดำเนินการจัดตั้งเพิ่มอีก 23 แห่ง และในปี พ.ศ. 2551 ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี รวมทั้งสิ้น 28 แห่ง จัดตั้งเพื่อทำหน้าที่ในการศึกษารวบรวมข้อมูล วัตถุสิ่งของ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทำการเชื่อมโยงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในชุมชน สังคม ประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น หรือสังคมรอบข้าง ตามปัจจัย และบริบททางสังคมของแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 25 แห่ง ใน 25 พื้นที่
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย
เขตบางกอกน้อยนั้น ล่วงผ่านยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปถึง 3 ครั้ง ย้อนความเป็นมาไปได้จนถึงสมัยอยุธยา ทั้งเคยเป็นเมืองหน้าด่านค้าขายทางทะเล
จวบจนสมัยพระเจ้าไชยราชาธิราช ได้ทรงโปรดให้ขุดคูคลองลัดเพื่อให้การเดินทางค้าขายเข้าออกกรุงศรีอยุธยาได้สะดวกขึ้น เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ จึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตด้านอื่นๆ ต่อมาถึงยุคสร้างบ้านแปงเมืองสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เกิดการย้ายถิ่นฐาน เกิดชุมชนช่าง และอื่นๆมากมายในเมืองหลวงแห่งใหม่ จนท้ายยุคกรุงรัตนโกสินทร์ เมืองหลวงจึงได้ย้ายฟากฝั่งแม่น้ำ
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานครเขตบางกอกน้อย
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น กรุงเทพมหานครเขตบางกอกน้อย ตั้งอยู่ในโรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม นิทรรศการภายในพิพิธภัณฑ์จัดแสดงได้อย่างสมจริง สวยงามสมกับคุณค่าของเขตเมืองเก่า ที่มีประวัติศาสตร์อันน่าจดจำเป็นอย่างยิ่ง มีทั้งภาพถ่ายรูปทรงจำลองทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เหมาะสมกับแต่ละเรื่องที่ต้องการเล่าถึง
มุมเด่นในพิพิธภัณฑ์
เมืองธนบุรีศรีมหาสมุทร
มุมแรกของพิพิธภัณฑ์ บอกเรื่องเล่าขานประวัติศาสตร์อันมีคุณค่า ย้อนหลังถึงสภาพทางกายภาพของผืนแผ่นดิน ทั้งสมัยอยุธยาดั้งเดิมหลังการขุดคูคลองลัดเข้ากรุงศรีอยุธยา ประวัติความเป็นมาของชื่อบางกอก ซึ่งมีความสำคัญได้รับการเรียกขานมากันจนถึงปัจจุบัน ชื่อ “ทณบุรีศรีมหาสมุทร” เมืองหน้าด่านสำคัญและเพื่อป้องกันข้าศึกทางทะเล และตั้งด่านเก็บภาษีสินค้าเข้าออก ได้ชื่อว่า “ทณบุรีศรีมหาสมุทร” ในสมัยสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิต่อมาก็คือ กรุงธนบุรี จุดหนึ่งที่โดดเด่นและได้จัดแสดงไว้คือสภาพทางภูมิศาสตร์อันตั้งอยู่บนที่ดอนตะกอนปากแม่น้ำ ดินที่อุดมสมบูรณ์ของชุมชนบางกอกน้อยนี้ จึงทำให้การปลูกพืชผักนานาพันธุ์นั้นเจริญงอกงาม ชุมชนชาวสวนและภูมิปัญญาท้องถิ่นจึงได้กำเนิดตามมา เช่น การทำสวนแบบยกร่อง นิทรรศการเล่าเรื่องกรุงธนบุรีเมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงกู้ชาติสำเร็จได้จึงเกิดการอพยพที่อยู่เพื่อมาตั้งถิ่นฐานของกรุงธนบุรี และนำเสนอภาพของบางกอกน้อยในยุครัตนโกสินทร์ ถึงย้ายเมืองหลวงมายังตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วชุมชนฝั่งตะวันตกยังคงความสำคัญในฐานะแหล่งเสบียงผลผลิตทางเกษตรและชุมชนช่างฝีมือแขนงต่างๆที่สืบทอดถึงทุกวันนี้ บ้านช่างหล่อ บ้านบุ บ้านมะตูม บ้านข้าวเม่า ชุมชนบ้านขนม
สถาปนากรุงธนบุรี
นิทรรศการบุคคลสำคัญที่เคยอาศัยอยู่ในเขตบางกอกน้อย สมเด็จพระพุฒาจารย์โต หรือโต พรหมรังสี ผู้ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่นับถือของประชาชนโดยทั่วไปอย่างมาก ในความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังมีท่านสุนทรภู่หม่อมราโชทัยและกรมพระราชวังหลังซึ่งมีเพียงองค์เดียวเท่านั้นในยุครัตนโกสินทร์
แหล่งชุมชนช่างฝีมือ
บ้านช่างหล่อ
บ้านมะตูม
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางกอกน้อย
ตั้งอยู่ : ในโรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม
502 ซอยจรัญสนิทวงศ์ 32 ถนนจรัญสนิทวงศ์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700
โทรศัพท์ : 02-433-2391
เปิดให้เข้าชม : วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 10.00 น.-16.00 น.
การเดินทาง
รถประจำทางที่ผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์ สาย 40, 42, 56, 68, 80, 175, 510, 509
สำนักงานเขตบางกอกน้อย
31/1 ถนนจรัญสนิทวงศ์ 32 แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร 10700
โทรศัพท์ : 02-424-0056
ข้อมูลโดย
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : กองวัฒนธรรม
โทร : 02-245-2547, 02-247-2333