นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน

“เราสร้างงานประติมากรรม เพื่อให้งานประติมากรรมสร้างเรา” คือวาทะที่เผยขึ้นพร้อมกับรอยยิ้มที่เปี่ยมไปด้วยไมตรีจิตของศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประติมากรรม) ประจำปี 2549 นนทิวรรธน์ จันทนะผะลิน ก่อนจะย้อนเล่าถึงจุดเริ่มต้นชีวิตบนถนนสายประติมากรรมให้เราฟัง 

 

 

“ตอนเรียนศิลปะที่โรงเรียนช่างศิลป์ แรกๆนั้นผมชอบงานจิตรกรรมมาก แต่ว่าเขียนได้ไม่ค่อยดี ในขณะที่ประติมากรรมเรากลับทำได้คะแนนดี เพราะเป็นงานที่สามารถปรับแก้ได้ ชั้นแรกเราพอกดินลงไป เมื่อเราไม่ต้องการเราก็ขูดออก (หัวเราะ) กลายเป็นงานแบบที่เราตั้งใจไว้ สามารถควบคุมรูปแบบได้ ก็เลยเลือกที่จะเรียนประติมากรรม พอเรียนแล้วก็รู้สึกชอบ เริ่มผูกพัน เข้าใจคุณค่าและซาบซึ้งในรูปแบบของตัวศิลปะนั้น

 

“การสร้างงานประติมากรรม เราจะต้องมีสมาธิในการสัมผัสกับงาน ถ่ายทอดความคิดเราผ่านไปสู่ชิ้นงาน ผมชอบความเอิบอิ่ม ความสมบูรณ์ และปริมาตรกลม ซึ่งเมื่อถ่ายทอดไปเป็นรูปเขียนนั้น มันไม่สามารถสัมผัสได้ เรามองมันลึกก็จริง แต่เมื่อสัมผัสดูแล้วมันแบน มันหลอกเราด้วยมิติ แต่งานประติมากรรมมันมีอิสระมากกว่า เราสามารถสัมผัสได้ตามความเป็นจริง

 

“เพราะฉะนั้นมันสามารถที่จะอยู่ที่ไหนก็ได้ อยู่บนผนังเป็นภาพนูนต่ำ นูนสูง ตั้งภายในหรือภายนอกอาคาร ในขณะที่งานจิตรกรรมกับงานภาพพิมพ์ใม่สามารถทำได้ ผมคิดว่าอันนี้คือลักษณะพิเศษของงานประติมากรรมซึ่งมีมากกว่างานศิลปะในรูปแบบอื่น งานศิลปะในปัจจุบันรู้สึกถึงข้อจำกัดนี้ดีจึงผสมผสานงานจนเกิดงานศิลป์แบบที่เรียกกันว่างาน Installation หรือการจัดวาง เพื่อให้งานนั้นมีมิติมากขึ้น

 

“ตอนแรกผมก็ไม่ได้คิดไว้ก่อนว่า งานของผมมีจุดมุ่งหมายอะไร สร้างขึ้นเพื่ออะไร แต่เราทำขึ้นเพราะชื่มชม งานของผมมักแสดงถึงความงอกงาม จนในปี 2517 เมื่อเรียนปริญญาโท อาจารย์ถามว่างานของผมสร้างเพื่ออะไร นอกจากจะต้องตอบคำถามอาจารย์แล้ว ก็ต้องตอบคำถามตัวเองด้วย

 

“ก็เลยเริ่มหันมาสนใจศึกษาโครงร่างของมนุษย์ แล้วนำไปผสมผสานกับความชอบเรื่องปริมาตรกลม และการงอกงามของตัวเอง จนออกมาเป็นงานในยุคที่สอง หลังจากนั้นเมื่อมีโอกาสทำงานด้านบริหาร ได้พบผู้คนมากมาย ได้ฝึกจัดระเบียบความคิด และเริ่มสนใจธรรมะ งานจึงหันเหไปทางธรรมะมากขึ้น”

 

นอกจากเป็นศิลปินผู้รังสรรค์งานประติมากรรม เพื่อเติมเต็มศิลปะให้กับสังคมแล้ว นนทิวรรธน์ ยังรับหน้าที่นายเรือใหญ่ นำพานาวาประติมากรรมไทยแล่นฝ่าคลื่นลมมากว่า 20 ปี

 

“ช่วงปี 2524 เวทีที่ประติมากรจะสามารถแสดงงานหรือทดสอบความสามารถได้มีอยู่เพียงเวทีเดียว คือ งานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ แต่ในยุคนั้นประติมากรมีน้อย พอส่งงานเข้าไป ถูกคัดออกบ้างก็เหลือเพียงไม่กี่ชิ้น วงการประติมากรรมเริ่มรู้สึกว่าแย่แล้ว น่าจะทำอะไรสักอย่าง

 

“ตอนแรกเรารวมตัวเป็นกลุ่มก่อน เรียกกลุ่มประติมากรไทย โดยให้ผมซึ่งเพิ่งกลับมาจากอิตาลี ไฟยังแรงอยู่(หัวเราะ) เป็นหัวหน้า แล้วจัดแสดงงานประติมากรรมครั้งแรกในเมืองไทยขึ้น ตอนนั้นวงการศิลปะทั่วไปก็มองกันว่าเราเป็นนักปฏิวัติหรือเปล่า (หัวเราะ) แต่ผมคิดว่าเราควรจะต้องมีการพึ่งพาตัวเองมากขึ้น จนกระทั่งวันที่ 31 สิงหาคม 2526 เราก็ได้รับการก่อตั้งเป็นสมาคมประติมากรไทย

 

“พอเรามีสมาคม เมื่อใครเขาต้องการจัดงานที่เกี่ยวข้องกับงานประติมากรรม เขาก็มาหาเรา เราก็เข้าไปช่วยเหลือเขาในด้านของงานวิชาการ แต่เงินเราไม่มีนะ (หัวเราะ) ช่วยได้แต่แรงเท่านั้น

 

“ปัจจุบันนี้งานมีมากขึ้น ประติมากรมีมากขึ้น เพราะฉะนั้นคนดูก็สามารถเลือกดูงานได้มากขึ้น สารที่ส่งเข้าไปสู่ผู้ชมมันจึงมากและเข้าถึงได้มากขึ้น ใน1 นิทรรศการ มีงาน 100 ชิ้น หากมีคนมาดู แล้วซาบซึ้งในผลงานแม้เพียงชิ้นเดียว ก็เท่ากับว่างานนิทรรศการครั้งนั้นประสบความสำเร็จแล้ว” นนทิวรรธน์กล่าวทิ้งท้ายพร้อมรอยยิ้ม

 

 

______________________________

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS

photo : ณัชชา เฉลิมรัตน์

ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

 

You may also like...