นิรันดร์ ชุณหชาติ

นิรันดร์ ชุณหชาติเริ่มทำงานภาพถ่ายพร้อมๆ กับการทำงานตกแต่งภาพ ( Retouching) ตั้งแต่ที่อเมริกายังไม่มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์ตกแต่งภาพ      ( Photoshop) การทำงานในแล็บตกแต่งภาพจึงกลายเป็นเหมือนการฝึกฝนและเรียนรู้เทคนิควิธีทางภาพถ่ายในแบบละเอียดถี่ถ้วน 

 

 

“ สมัยผมนี่คือใช้ภู่กันแต่งนะ คือทำงานงานกันบนสไลด์ ไม่ได้ใช้โฟโต้ช็อปเหมือนในปัจจุบันนะ มีมาสค์กิ้ง มีทำฟิล์มขึ้นมา มีเทคนิคในห้องมืดร้อยแปดพันชนิด แล้วทำเสร็จเราก็ยังไม่เห็นนะว่างานจะออกมายังไง ถ้าได้ก็ได้ แต่ถ้าไม่ได้เราก็ต้องไปเริ่มกันใหม่อีกมันใช้เวลาเยอะกว่าสมัยนี้มาก ” ดังนั้นเรื่องฝีมือและความประณีตจึงเรียกว่ามีอยู่ในทักษะของเขาตั้งแต่ก่อนที่จะมาเป็นช่างภาพอาชีพเสียอีก

 

จากนั้นนิรันดร์ก็กลับมาเมืองไทยแต่ก็ยังทำงานในลักษณะของมือตกแต่งภาพอยู่ และเรียกได้ว่าเขาอาจจะเป็นมือตกแต่งภาพคนแรกๆ ของเมืองไทยหรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงที่ยังไม่มีคอมพิวเตอร์

 

“ ผมทำงานกับช่างภาพมาเยอะมาก ช่างภาพในสมัยก่อนๆ นี่ก็รู้จักกันมาทั้งนั้น ดังนั้นเราก็เป็นทาสเขามาเยอะเหมือนกัน อย่างเขาเอางานมาให้เราทำนี่ มีโจทย์ต่างๆ นานาที่เราต้องแก้ไข ข้อผิดพลาด ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นช่างภาพหรอก แต่บางสิ่งบางอย่างมันทำไม่ได้ เราก็ต้องเอากลับมาแก้ไข ”

 

และหลังจากที่คอมพิวเตอร์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ความท้าทายของงานตกแต่งภาพลดน้อยลง นิรันดร์จึงเริ่มหันมาทำงานถ่ายภาพ ผลงานชิ้นแรกๆ ที่เป็นที่จดจำได้มากที่สุดชิ้นหนึ่งของเขาก็คือภาพถ่ายกรุงเทพมหานครที่มีมุมกว้างมากที่สุดเกือบ 180 องศา (โดยไม่ใช้กล้องพานอรามา)

 

กระทั่งมาถึงผลงานภาพถ่ายขาวดำชุด Intrigue1 เป็นการรวมงานส่วนตัวที่เขาทำในช่วงระยะเวลาหนึ่งปี “ เป็นภาพถ่ายที่มีลักษณะโต้ตอบ ( Interactive) กับคนดู ในบางมุมนี่คนดูจะรู้สึกได้ราวกับเข้าไปอยู่ในภาพนั้นๆ มันเป็นภาพมุมแคบที่ดูกว้าง และผมอยากให้คนดูเป็นส่วนร่วมกับผมในนั้น

 

“ ส่วนชื่อที่ผมตั้งเป็นชื่ออวัยวะหรือส่วนต่างๆ ตามร่างกายนั้น ก็เพราะผมไม่ต้องการจะชี้นำผู้ชมหรือคนดูเลย คือแค่ดูให้ออกว่ามันเป็นส่วนนี้นะ ที่เหลือคุณก็ไปคิดกันเอาเองก็แล้วกัน

 

“ นี่เป็นความสนุกที่ทำให้ภาพภาพหนึ่งสามารถจินตนาการได้หลากหลาย แม้กระทั่งภาพเดียวกัน กลับหัวนี่ก็เป็นอีกอย่างแล้ว หลังจากงานชิ้นนี้แล้วผมคิดว่ามีอีกเยอะเลยที่ผมสามารถจะทำต่อได้ แต่โดยส่วนตัวผมอาจจะหยุดก็ได้ คนอื่นอาจจะมาช่วยทำต่อหน่อยก็ได้ แล้วแต่ใครจะคิดยังไง ”

 

ผลงานชิ้นนี้สามารถบอกเล่าถึงเนื้อหาอื่นๆ ซึ่งอยู่นอกเหนือความงามแบบภาพนู้ดที่ดูราวกับภาพภูมิทัศน์ของทะเลทราย ตรงที่รายละเอียดของท่วงท่าต่างๆ ที่นิรันดร์นำเสนอนั้นสามารถสื่อถึงความยั่วเย้าในเชิงกามารมณ์ ซึ่งซ่อนอยู่ในตัวผลงานอีกชั้นหนึ่ง

 

ภาพถ่ายชุด Intrigue จึงสามารถสร้างมิติความสัมพันธ์กับคนดูได้หลากหลายระดับ แต่ภาพทุกภาพที่นิรันดร์ตั้งใจจะนำเสนอออกมาก็คือภาพที่มีลักษณะใกล้ชิดราวกับกล้องนั้นกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งของแบบ เป็นมุมมองที่จะถ่ายได้ก็ไม่ใช่แค่อาศัยการโคลสอัพ แต่ช่างภาพและแบบจำเป็นต้องผสานราวกับเป็นเนื้อเดียวกัน

 

นิรันดร์กล่าวถึงงานชิ้นนี้ว่า “ คอมโพสิชั่นนั้นมาก่อน แต่ถ้าจะพูดถึงคอนเซ็ปท์แล้วก็คืองานชิ้นนี้พยายามจะบอกกับผู้ชมว่า ที่เราเห็นนั้นไม่ใช่ทั้งหมด สิ่งที่อยากจะให้เราจินตนาการต่อก็คือสิ่งที่เรายังไม่เห็นทั้งนั้นเลย

 

“ เหมือนขณะนั้นนางแบบกำลังทำอะไรอยู่ หรือผมให้เขาทำอะไรอยู่ แต่ว่าคนอื่นอาจจะมองไปอีกอย่างหนึ่งไปเลย แต่ยังไงมันก็ค่อนข้างเป็นเรื่องที่ส่วนตัวมากๆ ของผม แต่ถ้ามองไปนานๆ ก็อาจจะเห็นก็ได้ อา…ดูเอาเองดีกว่าอันนี้ ”

 

__________________________

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS

ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASS  ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

 

 

You may also like...