ภาพชาวนาฟาดข้าวธรรมดาๆ ภาพหนึ่งที่มองแล้วอาจจะไม่ได้สวยเลิศเลอ หรือมีคุณค่าสักเท่าไรถ้าเทียบกับภาพศิลปะอื่นๆ แต่ภาพนี้กลับมีคุณค่าทางจิตใจมากสำหรับศิลปินผู้หลงใหลในความเป็นไทยอย่าง สมใจ ไรซ์ ที่ถ่ายทอดความรู้สึกจากปลายพู่กันที่ถูกแต่งแต้มสู่ผืนผ้าใบ เพียงเพื่อต้องการจะถ่ายทอดเรื่องราวและวิถีชีวิตของคนไทยไว้เป็นความทรงจำในขณะที่โลกก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง และแม้เวลาจะล่วงเลยมาหลายสิบปีแล้วก็ตามในการเข้าสู่วงการสีน้ำ แต่ภาพนั้นยังเป็นภาพแห่งความทรงจำที่ไม่เคยลืมเลือนเลย
“ เมื่อ 18 ปีที่แล้ว อยากจะวาดชาวนาฟาดข้าว สามีเป็นผู้จัดการใหญ่ค้ามันสำปะหลัง เผอิญเขาต้องไปตรวจดูพื้นที่ที่ภาคอีสาน เราก็ขอเขาไปด้วย แล้วบอกเขาว่า เวลาผ่านชาวนา จอดรถด้วยนะ อยากจะฟาดข้าว ถ้าถ่ายรูปเฉยๆ มันไม่รู้สึก อยากจะรู้ว่ามันเหนื่อยอย่างไร สามีก็ให้ความร่วมมือ เราก็แต่งตัวมอซอเลยนะ เห็นชาวนาเขาฟาดสนุก เอวอ่อนๆ เราฟาดไปทีละอองข้าวมันฟุ้ง หูบวม จมูกบวม .. ปรากฏว่ามันแพ้ ก็เลยถ่ายรูปมา
“ ตอนเราวาดก็คิดอยู่ในใจว่าในหลวงรักชาวนานะ รูปนี้น่าจะให้ในหลวง แม้ว่ารูปนี้จะไม่ได้สวยอะไร ชาวนาก็ไม่ได้สวย พอรูปนี้เสร็จก็เฉยๆ ไม่มีอะไร ออกมาเป็นสีน้ำตาล ก็เป็นภาพชาวนาฟาดข้าวธรรมดาๆ แต่กว่ารูปนี้จะออกมาก็เหนื่อยมาก เพราะเราไม่ได้เป็นชาวนา อีกอย่างภาพนี้เราก็เอามาทำเป็น ส . ค . ส . ด้วย แต่ขายไม่ดีเท่าไร เพราะคนต้องการรูปสวยๆ แต่ชาวนาที่ตัวกิ่วๆ วาดตัวเหี่ยวๆ คนเขาก็ไม่ชอบ ”
และแล้ว 1 ปีผ่านไป ความฝันของเธอก็เป็นจริง เมื่อบริษัทฯ ของสามีได้เข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศล และเธอก็ได้เข้าเฝ้าฯ ในฐานะที่เป็นภรรยา
“ อุ๊ยตาย ! ความฝันของเราเป็นจริง ตื่นเต้นมาก เราจะได้ถวายภาพที่เราคิดไว้ในใจตั้งแต่เราจับพู่กันแล้ว ก็เอารูปไปใส่กรอบไม้ธรรมดา พอตอนเข้าเฝ้าฯ ในหลวงท่านก็อ่านประวัติ แล้วเราก็ถวายพาน ส . ค . ส . ก็ยิ่งตื่นเต้นมากขึ้น เสร็จแล้วเสียงท่านรับสั่งมาว่า ‘ วาดรูปมานานแล้วสินะ ‘ คือเราก็ไม่เคยเข้าเฝ้าฯมาก่อนในชีวิต และไม่คิดว่าจะเป็นเสียงท่าน ซึ่งเป็นเสียงที่อบอุ่น เราก็เอ๊ะ ! เสียงใคร แล้วก็มองท่าน Yes! No! ครับ ! คือกระเปิบประป๊าบมาก แล้วก็ก้มหน้าก้มตาถวายไป เพราะตื่นเต้นๆ มากๆ
“ สุดท้ายท่านก็รับสั่งถามอีกว่า ‘ ใช้เวลาวาดภาพนี้นานไหม ‘ แทนที่เราจะอธิบายภาพว่าไปฟาดข้าวมาแล้วคิดถึงพระองค์ ด้วยพระบารมีที่ท่านได้ช่วยชาวนา แต่ด้วยความตื่นเต้นกลับลืมทุกสิ่งทุกอย่างแล้วตอบไปว่า ‘ แป๊บเดียว ‘ เท่านั้นแหละจบเลย ท่านหันหลังกลับเลย ทุกวันนี้ยังเสียใจอยู่เลย แต่สิ่งที่ยังจำได้จนถึงทุกวันนี้ก็คือ น้ำเสียงและรอยยิ้มที่ท่านมองเรา มีความสุขมาก อบอุ่น และไม่คิด แล้วก็ตั้งตัวไม่ทันว่าจะได้ยืนอยู่ตรงจุดๆ นั้น
“ ลึกๆ แล้วเราคิดว่าเรามาถึงแล้วนะที่เราวาดแบบนี้ มันยิ่งจุดประกายให้เราทำงานเกี่ยวกับวัฒนธรรมอะไรอย่างนี้ต่อไปเรื่อยๆ เราคิดว่าเราทำในสิ่งที่ดีๆ วันหนึ่งเราก็จะได้ไปอยู่ในจุดๆ นั้น ”
และล่าสุดกระทรวงการต่างประเทศได้นำผลงานของเธอออกแสดงยังประเทศแม็กซิโก ตามคำเชิญของพิพิธภัณฑ์สีน้ำแห่งชาติ ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี เป็นการนำเอาวัฒนธรรมของไทยไปเผยแพร่ให้กับชาวต่างชาติได้รู้ ผ่านภาพสีน้ำของเธอพร้อมกันนี้ยังได้กลับมาแสดงภาพสีน้ำโยเล่าเรื่องราวของประเทศแม็กซิโกที่ไปมาบ้าง ถือว่าเป็นการแลกเปลี่นนวัฒนธรรมด้วย
“ หลังสุดที่ภูมิใจก็คือ กระทรวงการต่างประเทศได้ส่งไปออกงานที่แม็กซิโก เอางานที่มีอยู่ไป จากหนังสือเล่มนี้เขาก็อยากเห็นตัวจริง แล้วมันก็เล่าเรื่องได้ครบประเทศ กลับมาขึ้นปีที่ 3 แล้วก็ถือเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม เราเอาแม็กซิโกมาฝากคนไทย อะไรที่เราได้เห็น ซึ่งมันก็ไม่ได้เยอะเท่าไร ที่สำคัญต้องจริงใจ แล้วเอาอันที่เราชอบจริงๆ ปิ๊งกับมัน ก็มีประมาณ 20-30 ภาพที่กี่ยวกับแม็กซิโก มาจัดที่แกลอรีนี้ คนแม็กซิโกก็แฮปปี้มาก เพราะนี่คือการแสดงความจริงใจอย่างหนึ่ง เราโชว์รูปเราให้ประเทศเขา แล้วเราก็ต้องสามารถเอาประเทศเขามาโชว์ ไม่ใช่โชว์อย่างเดียวแล้วก็จบ มันต้องมีการต่อเนื่อง ภูมิใจตรงนี้ ท่านฑูตก็ภูมิใจพอสมควรว่าเราเป็นศิลปินที่มีชื่อเสียง ไปออกงานแล้วยังอุตส่าห์เอาแม็กซิโกมาออกงานอีก เป็นครั้งแรกที่เขียนประเทศอื่นชื่อ ‘Mexico in Water Color’ นี่ก็เป็นการใช้งานศิลปะเชื่อมสัมพันธไมตรี แล้วเป็นของฝากให้คนไทยด้วย ”
ความทรงจำและความประทับใจของเธอยังไม่จบเพียงแค่นี้ ยังมีเรื่องราวที่ผ่านเข้ามามากมาย แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ สมใจ ไรซ์ สามารถยืนหยัดอยู่ในวงการศิลปะนี้ได้ยาวนานตลอด 20 ปีที่ผ่านมา นั่นคือ ความจริงใจในการนำเสนอความเป็นไทยผ่านปลายพู่กัน
“ เราจริงใจกับตรงนี้ เพราะวาดวิวไทยมันต้องมีการบันทึกอะไรหลายๆ อย่างทั้งความรู้สึก ทั้งข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ บางภาพไม่ขาย อยากจะซื้อกลับด้วยซ้ำ เพราะมันไม่มีอีกแล้ว และในที่สุดเราก็คิดว่า ช่วงชีวิตหนึ่งของเรา เราได้ทำประโยชน์ให้กับแผ่นดิน ถ้าศิลปะอย่างเดียวมันก็มีคุณค่ากับศิลปะ แต่ถ้าเราบันทึกบางอย่าง พอเราตายไปแล้ว ลูกหลานเหลนมาเห็นภาพ ยังสามาถบอกได้ว่าสมัยคุณย่า หน้าตาถนนมันเป็นอย่างนี้นะ คนก็เป็นอย่างนี้ ในที่สุดงานของเราก็จะมีคุณค่าสิ่งที่เราทำมาถึงขนาดนี้เราต้องมีความกตัญญูและมีความจริงใจในสิ่งที่เราทำอยู่ เราเดินมาไกลขนาดนี้แล้ว ตอนนี้เราต้องเป็นผู้นำ สิ่งที่เราทำมาอะไรที่มันเวิร์ค มันดี เราก็ต้องทำต่อไปเรื่อยๆ ”
_______________________________
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย