พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานคร โดยสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว เริ่มดำเนินโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 โดยจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครขึ้นครั้งแรก ในพื้นที่ 4 เขตนำร่อง
ประกอบด้วยพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรัก เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางกอกน้อย และเขตบางขุนเทียน ต่อมาปี พ.ศ. 2547 ดำเนินการจัดตั้งเพิ่มอีก 23 แห่ง และในปี พ.ศ. 2551 ได้จัดตั้งพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตมีนบุรี รวมทั้งสิ้น 28 แห่ง จัดตั้งเพื่อทำหน้าที่ในการศึกษารวบรวมข้อมูล วัตถุสิ่งของ และองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยทำการเชื่อมโยงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมทางกายภาพ วิถีชีวิตของกลุ่มคนในชุมชน สังคม ประเพณีวัฒนธรรม ระบบเศรษฐกิจ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นนั้น แสดงให้เห็นถึงการติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงระหว่างท้องถิ่น หรือสังคมรอบข้าง ตามปัจจัย และบริบททางสังคมของแต่ละท้องถิ่น ปัจจุบันกรุงเทพมหานครเปิดให้บริการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร 25 แห่ง ใน 25 พื้นที่
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเขต บางรัก
เขตบางรัก เป็นหน้าด่านอีกแห่งหนึ่งของบางกอก เพราะติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เอกลักษณ์ของเขตบางรักเป็นผลสืบเนื่องมาจากสภาพภูมิประเทศดังกล่าว เนื่องจากเป็นหน้าด่าน จึงเป็นเขตที่เจริญด้วยการค้าขายกับต่างชาติ โดยเฉพาะชาวตะวันตก ที่เข้ามาค้าขายและปักหลักตั้งถิ่นฐาน จึงเกิดการผสมผสาน ของวิถีชีวิต ขบนธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม
การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเขต บางรัก ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 273 ซอยเจริญกรุง 43 ถนนเจริญกรุง
เดิมเป็นพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก โดยอาจารย์วราภร สุรัสวดี รวบรวมข้าวของเครื่องใช้เก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ครอบครัวของอาจารย์จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่ออนุรักษ์ของที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ อุทิศเพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์ เมื่อโครงการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานคร เขตบางรักเกิดขึ้น จึงได้รวมไว้ให้อยู่ในสถานที่เดียวกัน ปัจจุบันอาจารย์วราพรมอบพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอกให้อยู่ในความดูแลของกรุงเทพมหานคร เราจึงสามารถเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่ทรงคุณค่าถึง 2 แห่งในคราวเดียวกัน
มุมเด่นในพิพิธภัณฑ์
มุมที่น่าสนใจอันดับแรก จัดแสดงเรื่องสายสัมพันธ์ไทย-ตะวันตก เนื่องจากมีชาวตะวันตกเข้ามาติดต่อค้าขายและปักหลักอยู่มาก เรื่องราวที่น่าสนใจในอดีตจึงเกี่ยวกับการเข้ามาของชาวตะวันตก สิ่งที่อนุชนรุ่นหลังสามารถพบเห็นและเรียนรู้ได้ชัดเจนที่สุด ได้แก่สถาปัตยกรรมแบบตะวันตกที่สวยงาม และยังคงอยู่ในปัจจุบัน มุมต่อมา เล่าเรื่องราวสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง สืบเนื่องมาจากความเจริญรุ่งเรืองด้สนการค้ากับชาวตะวันตก จึงเกิดระบบจัดเก็บภาษีแบบ “ร้อยชักสาม” สำหรับพ่อค้าชาวต่างชาติ ต่อมามีการตั้งสถานกงสุลของแต่ละประเทศ เขตบางรักจึงมีสถานกงสุลหลายแห่งตั้งอยู่ในเขตจวบจนปัจจุบัน
สถานีดับเพลิงบางรัก จิตวิญญาณที่ไม่เคยแก่ชรา
จิตรกรรมฝาผนัง ภายในพระอุโบสถวัดมหาพฤฒาราม
มุมที่จัดแสดงที่น่าสนใจมากอีกมุม ได้แก่ สถานที่สำคัญของเขตบางรัก อาทิ ศุภกสถาน ปัจจุบันเป็นที่ทำการสถานีบางรัก วัดแขกบนถนนสีลม อาสนวิหาร มีจิตรกรรมฝาผนัง ในพระอุโบสถที่สวยงามมาก และพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ฝีมือช่างรัตนโกสินทร์ตอนต้นที่ประเมินค่ามิได้
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นกรุงเทพมหานครเขต บางรัก
ตั้งอยู่ : 273 ซอยเจริญกรุง 43 ถนนเจริญกรุง เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
โทรศัพท์ : 02-2233-7027, 02-2231-6930
เปิดให้เข้าชม : วันพุธ-วันอาทิตย์ เวลา 10.00 น.-17.00 น.
สำนักงานเขตบางรัก
5 ถนนนเรศ แขวงสี่พระยา เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร 10500
โทรศัพท์ : 02-236-1395
ข้อมูลโดย
สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว กรุงเทพมหานคร
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : กองวัฒนธรรม
โทร : 02-245-2547, 02-247-2333