อรรถ สุนทรวโรภาส ช่างภาพอิสระ และอดีตช่างภาพประจำนิตยสารสเกล (SCALE) เล่าให้ฟังเกี่ยวกับการเข้ามาทำงานถ่ายภาพว่า “ มันเริ่มจากตอนเด็กๆ เล็กเลยครับที่เห็นพ่อถ่ายรูปขาวดำ รูปครอบครัว รูปผม แล้วมันดูมหัศจรรย์มากสำหรับตอนนั้น แต่คนที่สอนผมจริงๆ คือน้าชายที่เป็นอาจารย์มัธยมประจำห้องโสต ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง หรือบางทีผมก็ซื้อหนังสือมาอ่าน หรือดูเทคนิควิธีการถ่ายภาพเองบ้าง ผมคิดว่าการเริ่มต้นที่แท้จริงน่าจะอยู่ที่ความสนใจ คือผมสนใจการถ่ายภาพ
“ ส่วนเด็กๆ ที่ว่านี้คือแค่ ป . 4 จากนั้นผมก็จับกล้องถ่ายรูปเรื่อยๆ มา ภาพแรกๆ ที่ถ่ายนี่จะเป็นภาพวิวทิวทัศน์เสียมากกว่า เพราะตอนนั้นยังไม่กล้าถ่ายภาพคน เพราะยังไม่รู้จะจัดวางท่วงท่า (posing) หรือองค์ประกอบ (composition) ของภาพยังไง แล้วออกจะเขินๆ ด้วยครับสำหรับตอนนั้น
“ จากนั้นมาก็เลยถ่ายแต่ภาพทัศนียภาพ (perspective) ที่เป็นมุมมองแรงๆ หรือดูแล้วหลอกหลอนตาเต็มไปหมด คือว่าไปมันไม่ใช่ภาพทัศนียภาพในแบบที่คนเราเห็น แต่เป็นทัศนียภาพจากตาของกล้องหรือการวางตำแหน่งหรือมุมกล้อง ซึ่งอาจเป็นเพราะผมเรียนสถาปัตย์มาด้วยมั้งครับ ส่วนได้เริ่มมาถ่ายภาพคนหรือภาพบุคคลจริงๆ จังๆ ก็ตอนทำงานอยู่ที่นิตยสารสเกลที่แน่นอนว่าไม่ได้เน้นเพียงแค่ภาพถ่ายในงานสถาปัตยกรรม ”
อรรถได้อธิบายเพิ่มเติมต่อไปว่า ภาพภูมิทัศน์ (landscape) หรือภาพถ่ายเมืองและสถาปัตยกรรม (cityscape& architecture) นั้นมีความยากง่ายไม่ได้น้อยไปกว่ากันเลย สุดท้ายแล้วเขามองว่ามันขึ้นกับความสนใจหรือความชอบเป็นพื้นฐาน
“ งานภาพแต่ละประเภท มันมีความยากเหมือนๆ กันนะครับ อยู่ที่ว่าเราถนัด เราชอบแนววิธีไหน ถ่ายแบบไหนแล้วเรามีความรู้สึกชอบ อย่างผมจะชอบถ่ายภาพชีวิตผู้คนบนท้องถนน (street life) แบบไม่ต้องจัดแสง ไม่ต้องมีขาตั้งกล้อง เดินลุยแบบดิบๆ เลย ซึ่งถ้าจะให้มานั่งเปิดชัดเตอร์ B รอ เหมือนถ่ายพลุหรือถ่ายน้ำตกนี่ ผมก็ไม่ถนัด
“ แต่ภาพที่ปรุงแต่งแบบประณีตก็สวยก็ได้อารมณ์ครับ มันจะมีอารมณ์ของความประณีตที่ช่างภาพตั้งใจจัดแสงตั้งใจถ่าย แต่ที่ผมชอบในแนวนี้คือมันเป็นภาพที่ต้องอาศัยโอกาส … อาศัยแสงที่บางทีมันอาจเป็นครั้งเดียวเลย ที่ถ่ายได้ และไม่อาจจะกลับมาถ่ายได้อีกครั้ง สำหรับผมมันคงสนุกตรงนี้ด้วย ”
อรรถยกตัวอย่างตอนที่เขาถ่ายภาพคนขับรถเมล์ ซึ่งเขามองเป็นภาพบุคคล (portrait) เล็กๆ ในกรอบกระจกมองหลัง ( ที่คนขับรถต้องใช้มองดูอยู่เป็นประจำ ) ภาพที่คนขับเห็นคือกล้อง ส่วนภาพที่เขาได้ก็คือภาพที่คนขับมองเห็นเขาผ่านกระจกมอง ซึ่งกล้องได้ทำการบันทึกไว้ในช่วงเวลาสั้นๆ เขาเล่าให้ฟังว่า
“ ตัวผมเองในวันนั้นก็เป็นคนที่เดินทางร่วมไปกับพวกเขาด้วย มันมีทั้งอารมณ์เบื่อหน่ายการจราจร อารมณ์เหม่อลอย และเผอิญว่าผมนั่งอยู่ข้างหลังคนขับพอดี เลยถ่ายมา หลังถ่าย ตอนรอล้างก็รอลุ้นเหมือนกันครับว่าภาพจะออกมาเป็นยังไง เพราะมันเป็นการทำงานแบบรวดเร็วฉับพลันซึ่งไม่เหมือนกับกล้องดิจิตอลที่สามารถเห็นภาพได้ทันทีเลย
“ แต่มันอาจคล้ายดิจิตอลตรงที่ผมได้บันทึกความจำเกี่ยวกับภาพนั้นไว้ในสมอง ตอนที่ภาพออกมาแล้ว มันก็เหมือนกับว่า เราได้ย้อนกลับไปในวันที่เราถ่ายภาพๆ นั้น อารมณ์ในตอนนั้น จนแทบจะเรียกได้ว่าได้กลิ่นควันรถลอยตามลมมาเลยมั้งครับ ”
ในมุมมองของอรรถ เขาเชื่อว่าการมองดูภาพถ่ายคือการนั่งเครื่องย้อนเวลา กลับไปในวันเวลาเหล่านั้นอีกครั้งหนึ่ง เพียงแต่สำหรับเขาแล้ว ช่างภาพเป็นเพียงแค่ร่างทรง หรือทั้งหมดทั้งสิ้นของงานถ่ายภาพเขาทำได้เพียงแค่เพียงผู้ถ่ายทอดออกมา ซึ่งไม่ว่ารู้ตัวหรือไม่ อรรถก็ได้สะท้อนแนวคิดดังกล่าวนี้ออกมาผ่านงานภาพถ่ายชุด ลิเก ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นหน้าฉากหลังฉากไว้อย่างงดงาม เหมือนดังถ้อยคำหนึ่งของเขาที่พูดถึงงานชิ้นนี้ว่า “ มันเหมือนเป็นโลกทั้งสองด้านที่กั้นเอาไว้ด้วยฉากไม้อัด ระหว่างพระราชากับคนสามัญธรรมดา ” หรือในอีกแง่หนึ่งแล้วก็คือ ‘ ภาพถ่าย ‘ และ ‘ ช่างภาพ ‘
______________________________
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย