เรียบเรียงและสัมภาษณ์ โดย สุรกานต์ โตสมบุญ และ วิภาช ภูริชานนท์
Q : Being Sand จัดแสดงครั้งแรกที่ไหน ได้แนวคิดมาจากอะไร ? A : งานนี้ในครั้งแรกที่ทำ ผมแสดงที่เฮลซิงกิ ที่ฟินแลนด์ แล้วอีกหนึ่งปีต่อมาก็มาจัดอีกทีที่หอศิลป์ตาดู ที่ฟินแลนด์ก็เป็นแบบ gallery space มี 2 ชั้น คือ มีชั้นใต้ดิน กับชั้นข้างบน เอาทรายที่เฮลซิงกิเข้ามาใส่ในพื้น gallery แล้วก็ให้คนเข้าไป แต่ว่าไอ้ตัว VDO มันจะถูกปรับเปลี่ยนไปตามบริบทของพื้นที่ว่าพื้นที่มีแค่ไหน มันควรจะเป็นอย่างไร จริงๆ งานชุดนี้มันเป็นงานที่เกิดจากความไม่รู้ เพราะว่าเมื่อก่อนผมเป็นคนไม่ค่อยสนใจไม่ค่อยอยากจะเข้าใจเรื่องราวเนื้อหาของปรัชญาศาสนาหรืออะไรเท่าไร เพราะว่าอาจจะเป็นไปตามวัย
Q: แนวคิดของชิ้นงานมันจุดประเด็นมาได้ยังไงครับ หรือมันตกตะกอน เพราะว่าตอนแรกดูงานของอาจารย์ ค่อนข้างหลากหลาย แล้วอยู่ๆ มันก็มาเป็นทางนี้ A : ก่อนหน้าที่มันจะมาถึงตอนนี้ ผมทำในเชิงวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาไว้มากกว่า ในหลายๆ ชิ้น คือมองเป็นเรื่องของความรู้สึกที่เราไม่เชื่อมากกว่าความรู้สึกที่เราจะเชื่อ ในขณะเดียวกัน ผมก็คิดกับตัวเองว่า ผมตอบเขาได้ไม่หมด ผมไม่รู้ว่าที่เขาเชื่อนะมันคืออะไร แต่บังเอิญว่าผมได้ไปคุยกับอาจารย์หลายๆ คนที่สนใจประเด็นพวกนี้ แล้วก็มีอาจารย์แนะนำให้ไปอ่านหนังสือ
Q : หนังสือ “พุทธธรรม” ของท่าน ป. อ. ประยุตโต A : ใช่ หนังสือธรรมะเล่มหนา ผมอ่านอยู่หลายครั้งมาก มีความรู้สึกว่ายาก แต่มีอยู่วันหนึ่งไม่รู้ทำไม มันอ่านแล้วเริ่มเข้าใจว่ามันคืออะไร แล้ววิธีการอ่านของผมนี้ คือผมเอา source ในทางศิลปะไปจับว่าผมมองเห็นอะไรบ้างในนั้น มันยากก็ขีดเส้นใต้เอาไว้ กลับมาพลิกดู มาทำความเข้าใจในสิ่งที่เราไม่เข้าใจ ทวนหลายๆ ครั้ง ทีนี้มาถึงไอ้เนื้อหาแบบที่มันบังเอิญว่าสอนนักเรียนอยู่ นักเรียนก็ชอบทำงานลักษณะอย่างนี้ เรื่องของจิต เรื่องของความรู้สึกภายใน เราถามตัวเองว่าเราเข้าใจจริงหรือเปล่า มันไม่รู้ก็พยายาม
Q : ตอนแรกมันไม่เชื่อ ก็เลยสงสัย แล้วก็กลับมาค้นหาตัวเองอีกทีหนึ่ง A : คือจริงๆ ที่ค้นหา อยากจะให้ได้คำตอบเพื่อเอาไปใช้สอน (ลูกศิษฐ์ที่มหาวิทยาลัย) ทีนี้มันไปเจอเรื่องที่ท่านพุทธทาสพูดถึงความเป็นจิตในหนังสือที่ท่านแปลมาชื่อว่า “คำสอนของฮวงโป” ว่าจิตมันคืออะไร จิตจริงๆ มันคือของเดิมแท้ที่มีอยู่ก่อน ก็เลยสนใจคำว่าเดิมแท้ มันคืออะไร หมายความว่าอย่างไร เลยพยายามทำความเข้าใจไปเรื่อยๆ แล้วก็มีอาจารย์ทางคณะ ผู้ใหญ่หลายๆ คน ที่เขาชอบทางนี้ ผมก็พยายามคุย แล้วก็เลยไปถึงไอ้ประโยคตรงนี้ ประโยคที่บอกว่า “กษัตริย์กับหมากับพื้นทราย” ที่อยู่ในชิ้นงาน ก็มาจากหนังสือ ผมทำความเข้าใจได้ว่า จริงๆ มันไม่ต้องรู้ว่ามันคืออะไร มันรับรู้ได้หมดแต่มันไม่ต้องไปแสดงออกอะไร ก็เลยเริ่มต้นจากประเด็นตรงนั้น แล้วก็เอามาทำงานศิลปะ ผมก็แปลงมัน
Q: อาจารย์มีวิธีปรับใช้ตัวพุทธศาสนา ตัวปรัชญา ตรงนี้ในการทำงานศิลปะอย่างไร ? A : คือ มันสำคัญว่า ผมจะละลายเทคนิควิธีการของงานศิลปะออกไปก่อน ไม่ใช่เราจะทำ เราต้องคิดว่ามันต้องเป็นงาน VDO มันต้องเป็น installation มันต้องเป็นอะไร ผมจะค่อยๆ หยิบมันเข้ามารวมกัน คือ ผมคิดในภาษาตัวงานของผมอย่างหนึ่งว่า งานของผมมันเป็น spiritual media ก็คือ ไอ้พวก material ต่างๆ อะไรเหล่านี้ มันคือตัวประกอบ ที่มันทำให้เกิดความรู้สึกอันนั้น เพราะอย่างนั้น ไม่ว่าภาพเคลื่อนไหวใน VDO หรือว่าทรายที่เราเหยียบเข้าไปมันก็เหมือนกับการสัมผัสแบบรูป รส กลิ่น เสียง อาศัยตรงนั้น ทีนี้ตัวที่สำคัญก็คือ ความรู้สึกกับไอ้บรรยากาศที่มันประกอบกัน
Q : มันเหมือนกับว่าสำหรับอาจารย์ media เป็นแค่เปลือกนอก เป็นรูปแบบข้างนอกเท่านั้น ? A : มันเป็นแค่ step ที่ทำให้เราค่อยๆ เข้าไป ในท้ายที่สุด มันไม่ต้องดูอะไรก็ได้ ไม่ต้องพูดอะไรก็ได้
Q : ตัวละครหลัก ก็คือทราย ? A : ใช่ เป็นทราย
Q : ตอนแรกที่คิดทำ being sand ทำไม มันต้องเป็น “ทราย” ? A: ฮะฮะ เพราะว่าความเป็นทรายมันเหมือนกับ จิตที่มันว่างเปล่า มันไม่ต้องรับรู้ มันไม่ต้องอะไร ไม่ต้องรู้สึก ไม่ยินดี ไม่อะไรทั้งสิ้น อะไรอย่างนี้ เลยบอกว่า ผมจะทำอะไรโดยที่ให้มันมีนัยยะที่มันบอกว่าผมเอาอะไรมา ผมเลยขอดึงประโยคที่ว่าเป็นทรายออกมาใส่
Q : เทียบกับงานเดิมซึ่งเคยทำที่หอศิลป์ตาดู ครั้งนี้ชิ้นงานที่อาจารย์จะเอาไปมีอะไรบ้างครับ ? A : ก็มี 2 ชิ้น คือ ชิ้นนี้ (ห้องทรายกับจอวีดิทัศน์รูปคนกับหมา) กับอีกชิ้นหนึ่งที่เป็นบรรทัด 5 เส้น อันนั้นอาจารย์สายัณห์ ชอบ แบบว่าอยากให้เอาไป ซึ่งผมเองก็ชอบ มันเหมือนกับว่าพอเราทำเองมันก็เกิดขึ้นโดยอัติโนมัติ ผมว่าในเมื่อมันเป็นทราย มันเป็นอะไรก็ได้ เหมือนเราอยากจะเอาทรายมาสร้างความรู้สึกที่เป็นเสียงเป็นเพลง โดยใช้สัญลักษณ์ของตรงนั้น มันก็เกิดงาน 2 ชิ้นนั้นขึ้นมา แต่ด้วย space มันเล็กๆ มันคงได้ความยาวซักประมาณ 3 เมตร จะเอาทราย จากที่นี่ไป เพราะว่าทรายจากที่นี่มันมีหลายโทนหลายเชด ขาวใสๆ จนกระทั่งเป็นทราย เป็นน้ำตาลก็ดี คือผมต้องการหาโทนที่มันต่าง
Q : ทรายที่อาจารย์เอามาใช้ อาจารย์เอามาจากตรงไหน มีอะไรพิเศษหรือเปล่า ? A : คือ มันไม่มีอะไรพิเศษ เพียงแต่ว่าเราดูเอาเหมือนเราเลือกสีไป painting ก็คือหาที่มีความแตกต่าง มีน้ำหนัก มีอะไรแค่นั้นเอง แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องเคารพในตัวมันว่ามันต้องเป็นทราย เป็นทรายจริงๆ
Q : ทีนี้ ผมเห็นว่า มันมีลูกเล่นที่ใส่เข้าไปอย่างเช่น เรื่องของการฉาย VDO ใช่ไหมฮะ มีจอ VDO 2-3 อัน รูปแบบต่างกันอย่างไรระหว่างที่เฮลซิงกิกับที่ตาดู แล้วก็ที่จะไปเวนิส ? A : ที่เฮลซิงกิ มันจะมี projector อยู่จอเดียว แล้วก็มีมอนิเตอร์เป็นจอทีวีเล็กๆ อยู่ 2 จอ มันก็จะ เห็นเท้าเป็นคนเดิน เห็นหมาที่เดินไปเดินมา แค่นั้นเอง อะไรอย่างนี้ คือถ้าหากว่า มันเข้าไปถึง ปะทะแรกเลย เขาจะเห็นสถานที่สวย เห็นความงาม มากกว่าที่จะเห็นเรื่องจิตที่เราต้องการ
Q : ตอนนั้นผลตอบรับของคนที่เข้าไปดู เป็นยังไงบ้างครับ ? A : มันก็มีอยู่หลายอย่างที่มันตอบเรา คือเราไปทำในพื้นที่แบบนั้น แล้วทำในฤดูหนาว แล้วให้เขาถอดรองเท้านี่ มันยากมาก แต่ก็มีหลายๆ คน ที่อยากจะสัมผัสอย่างนั้นจริงๆ เขาก็ถอดรองเท้า แล้วเดินเข้าไปดู มันก็จะได้ความรู้สึก คือ เขาบอกเองนะ เขาไปเที่ยวทะเล ไปอะไรมา เขาไม่รู้สึกเหมือนกับมายืนในตรงนั้น มันคนละอย่าง
Q : ในแง่หนึ่งงานนี้ เหมือนกับว่า เราเอางานความคิดตะวันออก ไปให้คนที่นั่นดู มีปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจของคนที่นั่นไหม ? A : คือผมยกความต่างในเรื่องของความเชื่อในศาสนาออกไป แล้วเข้าไปหาบรรยากาศของตรงนั้น ดูว่าเราจะรับรู้หรือจะรู้สึกอะไร ไม่อย่างนั้นมันก็จะกลายเป็นเรื่องเล่าทางศาสนาอยู่ตลอดเวลา ผมมองเห็นมาแต่ต้นว่ามันอาจจะกลายเป็นรูปประกอบคำสอน ก็เลยต้องให้เขาพยายามทำความเข้าใจ ก็เลยคิดว่า บางคนเข้าไปมันเห็นแค่งาน มันไม่รู้สึก ในขณะที่เขาต้องถอดรองเท้าเดินเข้าไป ถ้าเขาไม่รู้สึกว่า เขายืนอยู่บนอะไร ถ้ามันค่อยๆ คลุกคลี มันก็จะค่อยๆ รู้สึกว่ามันไม่ต้องการรูปจริง มันต้องการแค่ความสัมผัส ความรู้สึกได้
Q: อย่างนั้นก็แสดงว่า ในระดับหนึ่งก็คือ พอมันไปอยู่ในลักษณะของคนดูที่เป็นคนจากหลายๆ เชื้อชาติ หลายๆ ชาติพันธุ์ อาจารย์ก็อยากให้ลบเรื่องของศาสนาลงไปบ้างเหมือนกัน เพื่อจะให้เจออย่างอื่น A : เวลาผมคิดถึงสภาวะจิต แล้วบอกว่ามันมีอยู่ก่อนในจักรวาลนี้แล้ว หรืออะไรทำนองนี้ เพราะฉะนั้นผมจึงคิดว่ามันก็ไม่ใช่เรื่องของศาสนา เพราะมันมีมาก่อนแล้ว ยิ่งพอไปอ่านหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่มันเหมือนกับอ้างอิง… ใครเขียนจำไม่ได้ แต่เขาเขียนเรื่องความคิดของไอสไตน์ที่เปรียบเทียบกับพระพุทธศาสนา… พูดง่ายๆ ก็คือ ไอ้พลังเหล่านั้นมันก็มีอยู่ก่อนแล้ว ก่อนที่จะค้นหามาเจอ ก่อนที่คนจะเอามาใช้ ผมก็มองว่าจริงแล้วตรงนี้มันก็เป็นสากลซึ่งเราไม่ต้องใช้ศาสนานำ
Q: ก็คือ มันพ้นลัทธิพ้นศาสนา A : มันพ้น ก็เลยมันน่าจะเข้าใจจุดเหล่านี้ได้
Q : แสดงว่า ประโยคที่อาจารย์ quote มาให้คนอ่านนี่ มันไม่ได้จงใจหรือไม่ได้มุ่งจะบอกอะไรเหมือนกับเป็นจารึกในศาสนา แต่มันก็คือประโยคที่มัน touch กับความรู้สึกอาจารย์เท่านั้น ? A : ครับ คือผมดึงเอามาวางไว้ บอกว่าภาษา คำนี้มันออกมาจากไหน แล้วจริงๆ ผมเติมข้างหน้ากับตอนท้ายเอาไว้เป็นตัวผมเอง คำว่า “ดูซิ” ผมใส่เข้าไปเอง เพราะว่าในภาษา ในหนังสือมันไม่มี
Q : ที่ผมสนใจอย่างหนึ่งที่เฮลซิงกิ คือการจัดในช่วงฤดูหนาว แสดงว่าเนื้อหาที่ไปจัดในแต่ละพื้นที่มีความต่าง แล้วอย่างนี้อาจารย์มองที่เวนิสกับที่อื่นๆ อีก2 ที่ (เฮลซิงกิ กับกรุงเทพฯ)ที่อาจารย์เคยจัดแล้วว่ามีลักษณะต่างกันอย่างไร ? A : ที่เวนิสนี้ ผมว่ามันอาจจะเป็นความโชคดี สถานที่ (อาคารจัดแสดงงาน) ซึ่งเราได้ในเวลาอันสั้น มันเป็นที่ที่มันค่อนข้างจะ… แบบว่ามันทำให้เกิดความเป็นส่วนตัว ซึ่งมันต่างกันระหว่างข้างนอกกับข้างใน ที่ข้างนอกนี้ บนถนนข้างหน้า ทางเดินมันจะพลุกพล่านมาก เพราะว่ามันเป็นทางที่ต่อมาจากสถานีรถเมล์บนเกาะซึ่งเป็นที่สุดท้าย แล้วคนจะต้องเดินผ่านไป แล้วก็ฝั่งตรงข้ามก็เป็นสถานีรถไฟ ซึ่งคนก็จะใช้ตรงนั้นเยอะมาก แล้วก็มันก็จะเห็นความจอแจ เห็นความหลากหลายของตรงนั้น ในงานของผมจะมีกล้องวงจรปิดอยู่ตัวหนึ่ง ที่ผมไปดูดเอาภาพข้างนอก มาใส่ไว้ข้างใน แต่ถ้าหากว่าพอมาเดินในงานของผม มันไม่เห็นภาพนั้นตั้งแต่แรกจนกว่าจะเดินกลับ คือมันจะถูกยิงอยู่ข้างหลัง
Q : อาจารย์พูดหลายครั้งว่า ตัวที่จุดประกายให้เริ่มหันมาทำความเข้าใจกับเรื่องที่ทำอยู่นี้ ตอนแรกเป็นคำถามที่มาจากคนอื่น มาจากลูกศิษฐ์ ต่อมาก็ถามตัวเอง แล้วก็เข้าใจเข้าใจตัวเองมากขึ้น การเข้าใจนี้มีผลต่อทัศนคติและตัวตนของ “ความเป็นอาจารย์” ด้วยไหม ? A : คือจริงๆ ผมว่ามันมีผลโดยตรงผมว่ามันเปลี่ยนตัวผมจากที่แบบเคยมีวิธีการในชีวิตอีกแบบหนึ่ง ผมอาจจะเป็นคนโผงผาง อาจจะเป็นคนที่เขาว่า…บ้า อะไรอย่างนี้ ผมสามารถหยุดไอ้สิ่งเหล่านี้ให้มันนิ่งได้ ด้วยความรู้สึก… ใครจะว่า ใครจะอะไร ก็นิ่งๆ ทำให้ตัวเองมีสมาธิกับการทำอะไร แล้วผมก็คิดว่าจริงๆ มันเป็น Period ที่สำคัญ มันทำให้ผมมีความรู้สึกว่าอยากทำงานศิลปะมากขึ้น คือก่อนหน้านั้น ถ้าเคยเห็นงานผมในยุคเริ่มต้นที่ผมยังทำเป็น painting ก็เป็นอีกเรื่อง ก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง พอกลับมาอยากเขียนหนังสือแล้ว มันก็ยังเป็นอะไรที่มันสะเปะสปะ พอมาถึงตรงนี้ เหมือนกับจัดตัวเองเข้ามาอยู่ในระเบียบอะไรที่มันนิ่งได้…จนกระทั่งเหมือนกับว่า (ความคิดที่เกิดขึ้นใหม่นี้) ใช้จนเกิดประโยชน์เกินจริง ผมสามารถสอนนักเรียนได้ คือพอเราเข้าใจว่ามันคืออะไร ก็สอนได้ ผมว่าประเด็นอื่นๆ มันธรรมดา
Q : ย้อนกลับไปที่งานเก่าชิ้นที่ชื่อว่า middle way ก็มีคนเขียนถึงว่า มันเป็นงานที่นอกจากจะเกี่ยวข้องในเรื่องของความเชื่อแล้ว มันยังเกี่ยวกับเรื่องสังคมเมืองสมัยใหม่ด้วย ตรงนี้ Being Sand นอกจากเรื่องของความเชื่อแล้ว ชิ้นงานมันยังแฝงเรื่องของการวิพากษ์สังคมด้วย ? A : จริงๆ เรากับสังคม มันอยู่กันเป็นหนึ่งเดียว ตัดกันไม่ได้ตลอดเวลา ดังนั้นไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในสังคม มันก็เหมือนกับว่าเราต้องรับรู้ เหมือนกับแบบสถานการณ์ในปัจจุบัน เราก็ต้องรู้หมด เพียงแต่ว่า เราจะอยู่อย่างไรในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างนั้น มันอาจจะไม่ปรากฏชัดใน Being Sand แต่ในชิ้นหลังที่จัดแสดงที่หอศิลป์พระนางเจ้าสิริกิติ์ “ศิลปะ-พุทธะ” ที่เป็น VDO สองจอ เป็นหน้าเด็กผู้หญิงค่อยๆ make up มากขึ้นๆ กับภาพพระพุทธรูปวางคู่กันอยู่ คือจริงๆ ผมก็อ่านมาจากหนังสืออีกที พระบ่นว่าสมัยนี้คนเข้าร้านเสริมสวยง่ายกว่าเข้าวัด ผมก็ get เลย คือในขณะเดียวกันมันก็เกี่ยวข้องกับความเป็นสังคม เพียงแต่ว่า บางคนมองอาจจะมองในแง่ที่ว่ามันก็แค่จับประเด็นศาสนามาเปลี่ยนสื่อ ใช้ VDO ใช้อะไร แต่จริงๆ ที่มาที่ไปมันก็มาจากเนื้อหาทั้งนั้น ก็คือแบบมันไม่มีอะไรที่ยึดติดเป็นตัวตนเอาไว้ได้ตลอด ทุกอย่างมันก็เสื่อมสลาย
Q : อาจารย์ได้ไปแสดงงานนิทรรศการในระดับนานาชาติบ่อยครั้ง เลยอยากจะถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานเพื่อที่จะให้คนเอเชียกับคนยุโรปดู มันมีการมองหรือการสื่อสารที่ต่างกันออกไปอย่างไร ระหว่างความคิดแบบพุทธ ความคิดแบบเอเชีย ที่พูดถึงกันอยู่นี้ ? A : คืออันหนึ่งผมว่าที่สำคัญที่สุดคือเวลาเราไปอยู่ตรงนั้นแล้ว ไอ้สิ่งที่เราเอาไปมันต้องไม่ใช่การขายของแปลก ไม่งั้นจบ คือผมไม่ได้วิจารณ์คนอื่นนะครับ แต่ในความรู้สึกว่า ไปนั่งสมาธิ หรือไปทำอะไรอย่างนี้ บางอย่างมันก็อาจจะไม่ใช่ ทีนี้ทำอย่างไรให้ตรงนี้กลายเป็นสื่อให้ได้ ไม่ใช่ว่ามันแปลกดี หรือไม่ใช่ว่าอันนี้มันคืออะไร คือที่ไหน คือผมจะปฏิเสธไอ้วิธีแบบนี้ เพราะเมื่อสมัยเรียน แม้แต่ตัวของเราเอง มันก็เป็นของแปลกสำหรับคนที่นั่น เพราะว่าน้อยคนจะรู้จัก Thailand เราก็เลยกลายเป็นของแปลก ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่ มันอยู่ที่ว่าเราทำอะไรได้มากกว่า ผมก็ยืนยันอยู่ตลอดเวลาว่า ในความเป็นศิลปินหรือในการทำงานอะไรก็ตาม คนไทยไม่ได้ย่นย่อไปกว่าคนในประเทศอื่นๆ เราก็ใช้วิธีการทำงานศิลปะนี่ล่ะ แล้วบอกให้เขาเข้าใจว่า เราคืออะไร
Q : ถ้างั้นจะมองอย่างนี้ ได้ไหมครับว่า งานที่อาจารย์ทำนี่ ส่วนหนึ่งก็ทำเพื่อที่จะเข้าใจตัวเอง ถ้าอย่างนั้น Being Sand อาจารย์ใช้เวลาอยู่กับมันมากแค่ไหน แล้วมันเกิดความรู้สึกอะไรเป็นพิเศษ ? A : ก่อนที่มันจะเป็นตัวงาน ผมพยายาม list สิ่งที่ผมรู้สึกจากประโยคนั้นขึ้นมาเยอะมาก เสร็จแล้ว ผมก็ค่อยตั้งคำถามว่ามันใช่หรือเปล่า อย่างเช่น ภาพแรกที่ผมคิดว่าผมจะทำ มันเป็นภาพพื้นทรายที่มีรอยเท้า มีอะไรปรากฏขึ้นมา แล้วผมก็มาตอบคำถามว่า ทำไมผมต้องทำ ผมทำมันก็ทำได้แค่รูป (painting)มันไม่ได้กลิ่น มันไม่ใช่ตัวมัน …ก็เอาออกไป ก็คิดต่อว่าหรือทรายมันต้องละเอียด พอเหยียบลงไปต้องนิ่ม มันต้องนุ่ม แต่ว่าทรายจริงๆ มันก็ไม่ใช่อย่างนั้นอีก ในความเป็นจริง มันคืออะไร เราจะเรียนรู้อะไร แล้วเราจะบอกอะไร ผมพยายามเคารพความป็นจริงให้มันมากที่สุด ทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่ามันจะใช่หรือไม่ใช่ แต่ความคิดตรงนั้นสำหรับเรา มันต้องเป็นความเป็นจริง
Q : กลับมาที่คำถามคลาสสิคครับ เดิมทีมีคนพูดว่าศิลปะคือการลอกเลียนธรรมชาติ อาจารย์มีความคิดอย่างไรกับตรงนี้ครับ ? A : ศิลปะกับธรรมชาติผมว่ามันพึ่งพากันนะ ในแง่หนึ่งศิลปินเองก็ต้องอาศัยแรงบันดาลใจจากธรรมชาติเป็นหลักในการทำงานมาตั้งแต่ในสมัยโบราณ แล้วปัจจุบันนี้ เราก็อาศัยตรงนี้อยู่ เพียงแต่ว่าเราอาศัยธรรมชาติอีกแง่นึง อีกมุมนึง ผมก็ได้ความเป็นธรรมชาติ เพราะว่าผมก็พูดถึงความเป็นธรรมชาติในแง่ปรัชญาในงานของผม ในขณะเดียวกันผมก็คิดว่าศิลปะเองก็เป็นจิ๊กซอว์ เป็นตัวต่อที่ทำให้เราเข้าใจธรรมชาติ อาจจะเป็นประวัติศาสตร์ของตัวมันเองก็ได้ที่ย้อนกลับไปพูดว่า ศิลปะด้านหนึ่งมันก็คือการบันทึก มันทำให้เราเห็นกลับไป ทำให้เราเข้าใจว่า แม้กระทั่งว่าแผนที่ประเทศเมื่อก่อนหน้าตามันเป็นแบบนี้ จนกระทั่งทุกวันนี้หน้าตามันเป็นแบบนี้ ศิลปะมันบอกตรงนี้ได้ ผมก็เชื่อว่ามันต้องอาศัยทั้งสองอย่าง แล้วผมก็ไม่ปฏิเสธว่าเราก็ต้องใช้ธรรมชาติ
Q : อยากทราบมุมมองของอาจารย์ต่องานอาจารย์นิพันธ์ ? A : จริงๆ ผมไม่ค่อยได้ดูงานของเขาเท่าไร แต่ก็จำได้บ้าง เพราะตอนที่เรียนอยู่ที่นี่เขาเป็นรุ่นน้องผม ซัก 6 ปี แล้วเค้าเป็นคนที่มีฝีมือ แล้วก็เปฌนคนที่ละเอียดรอบคอบมากอีกคนหนึ่ง จนกระทั่งมาเป็นงานชิ้นนี้เข้าก็ได้คุยกันครั้งแรก มันอาจจะมีอะไรที่มันพ้องกันอยู่นิดนึง คืองานมันจูนกัน อยู่ใน direction ที่มันพ้องกัน แต่ว่านิพันธ์ต้องระวังถ้าคนดูเข้าห้องผมก่อน แล้วเข้าห้องนิพันธ์ แล้วเข้าใจว่างานเหยียบได้ ทีนั้นละยุ่ง เราเลยต้องแบ่งห้องให้มันชัดเจน คือเมื่อก่อนอยากให้มันทำให้เดินได้รอบ ทุกคนก็คิดว่าใช่ เพราะว่างานมันก็คล้ายๆ กัน ด้านวัสดุ ทรายกับแป้งมันก็ไม่ได้ต่างกัน ถ้าคนขึ้นไปเหยียบก็คงหมด ตรงนี้เป็นอีกด้านหนึ่ง ก็คือนิพันธ์เป็นคนรุ่นใหม่ที่ชอบอ่านหนังสือ ชอบหาประเด็น งานเค้าเหมาะกับตัวเค้า ghost skin มันเกิดจากความรู้สึกของเขาเอง เวลามองจากตัววัสดุที่ใช้ มันก็ให้ความรู้สึกว่ามัน sensitive มีความน่าสนใจ
Q : เตรียมตัวไปถึงไหนแล้วครับ ? A : ของผมเอง มันแค่คิดว่าจะต้องเอาอะไรจากที่นี่ไปบ้าง จะต้องใช้อะไรของที่โน่น ดังนั้น มันก็ไม่ค่อยนั้นเท่าไร อาจจะละเอียด หยุมหยิมหน่อย ก็ของ อ.นิพันธ์ เพราะว่ามันจะต้องสร้าง place ขึ้นมาใหม่ อย่างของผมมันทราย มันตรงไหนก็ได้
Q : รู้สึกอย่างไรกับการได้ไปแสดงงานที่เวนิสครั้งนี้ แล้วก็ตั้งความหวังไว้อย่างไรบ้าง ? A : รู้สึกเป็นเกียรติ คือ ณ จุดนี้ใครได้รับเลือกก็ต้องดีใจเป็นธรรมดา ส่วนตั้งความหวังไว้อย่างไรนั้น ที่สำคัญก็คือต้องทำให้ดีที่สุด ผลตอบรับจะกลับมาอย่างไร ผมเชื่อว่าแนวทางของการทำงานศิลปะในตรงนั้นที่มันจะทำให้เกิดขึ้น มันจะมีอะไรที่มันมีพื้นใหม่ มีอะไรที่มันหลากหลาย ผมก็เชื่อว่าเราก็จะเป็นทางเลือกทางหนึ่งให้เค้ารับรู้ เหมือนกับที่ผมอยากรู้ว่าความรู้สึกที่ผมคิดว่างานผมมันเป็น spiritual media เนี่ยมันจะรับรู้ตรงนั้นได้มั้ย มันก็อาจจะมีพิกัดที่ดีเกิดขึ้นได้ นอกจากเค้าจะเห็นแค่ทราย ทรายบ้านเราก็มี ถ้าแค่นั้นก็จบ ผมพยายามคุยกับเพื่อนๆ ที่ไปจัด ว่าอย่าไปคิดว่าทำเพื่อชาติ แต่ถ้าชาติเลือกเราเป็นตัวแทนเราก็ขอทำดีที่สุด
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย