เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า สิ่งที่เราเห็นด้วยตานั้น คือสิ่งที่เป็นจริง ? นี่คือคำถามที่เกิดขึ้นเมื่อผู้เขียนได้อ่านนวนิยายขนาดสั้นชื่อ Being There (ค.ศ. 1971) หรือในชื่อภาษาไทยว่า ที่เห็นและเป็นอยู่ ผลงานของนักเขียนเชื้อสายโปล-อเมริกัน นาม เจอร์ซี โคชินสกี (Jerzy Kosinski : ค.ศ. 1933-1991)
Being There เป็นเรื่องราวของแชนส์ หนุ่มคนสวนผู้กำพร้าพ่อแม่ แชนส์ เติบโตขึ้นมาโดยได้รับการอุปการะจากผู้เฒ่าคนหนึ่งที่มีฐานะ ให้เข้ามาอยู่ในคฤหาสน์ของเขาในฐานะคนสวน แชนส์ถือได้ว่าเป็นคนนอกของสังคมอย่างแท้จริง เพราะว่าเขาไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีชื่อเสียงเรียงนามเต็มยศ ไม่มีแม้กระทั่งสูติบัตร (ด้วยความที่เป็นกำพร้า) และผู้เฒ่าที่รับอุปการะแชนส์ก็ไม่ได้ใส่ใจที่จะพาเขาไปแสดงความมีตัวตนในสังคม) ที่แชนส์เป็นจริงคือมนุษย์คนหนึ่งที่มีชีวิตอยู่อย่างโดดเดี่ยว เขาไม่เคยมีเพื่อน ไม่เคยออกไปนอกคฤหาสน์ของผู้เฒ่า แต่เขาก็ได้หาทุกข์ร้อน ในความโดดเดี่ยว แชนส์กลับมีความสุขอยู่กับสวนต้นไม้ที่เขาปลูกและดูแลเรื่อยมา รวมไปถึงอีกหนึ่งกิจกรรมสุดโปรด นั่นคือการดูทีวี
แชนส์คงจะมีชีวิตราบเรียบและไร้ตัวตนต่อไป หากในวันหนึ่งผู้เฒ่าเจ้าของคฤหาสน์ไม่เสียชีวิตลง ตัวผู้เฒ่าไม่มีลูกหลาน และไม่ได้เขียนพินัยกรรมไว้ ดังนั้นเมื่อเขาเสียชีวิต ผู้จัดการทรัพย์สินของเขาจึงเข้ามาสู่คฤหาส์ และด้วยความที่ไม่มีตัวตนของแชนส์ (ไม่มีแม้กระทั่งสัญญาว่าจ้างจากผู้เฒ่า) แชนส์จึงต้องออกจากคฤหาสน์ และสวนที่เขาโตมา ออกสู่โลกภายนอกที่เขาเคยเห็นแต่ในทีวี นั่นเองที่เรื่องเหลือจะเชื่อเกิดขึ้น ระหว่างการเดินอันไร้จุดหมาย
แชนส์ ประสบอุบัติเหตุถูกรถชน และได้รับการรับผิดชอบจากอีอี หญิงสาวผู้มีหน้าตาในสังคมซึ่งเป็นเจ้าของรถที่ชนแชนส์ เธอเชิญแชนส์ไปรับการรักษาตัวที่คฤหาสน์ของเธอ ที่นั่นแชนส์ได้พบกับสามีชราของอีอี บุคคลผูัทรงอิทธิพลคนหนึ่งของอเมริกา ซึ่งดูอย่างไร แชนส์คนสวนที่อ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ ก็ไม่น่าจะเข้าได้กับครอบครัวผู้มีอันจะกินและมีหน้าตาฐานะทางสังคมเช่นอีอีและสามี สิ่งเดียวที่แชนส์มีคือความรู้เกี่ยวกับสวนต้นไม้ อันขึ้นตรงต่อฤดูกาลและการดูแลของผู้ปลูก ซึ่งเขาก็ได้พูดถึงสิ่งที่เขารู้นี้ในการสนทนากับสามีชราของอีอี ผลปรากฎว่ากลายเป็นว่าสามีของอีอี กลับเห็นว่าสิ่งที่แชนส์พูดคือการอุปมาอุปไมยที่เฉียบแหลม เกิดเป็นความชอบพอในตัวหนุ่มคนสวนถึงขั้นชวนให้ได้พบกับท่านประธานาธิบดี และด้วยธรรมชาติดังว่าของแชนส์ ประธานาธิบดีก็รู้สึกชอบพอในตัวเขาไม่ต่างจากสามีชราของอีอี ถึงขั้นนำเอาประโยคที่แชนส์พูดไปกล่าวในสุนทรพจน์ พร้อมอ้างชื่อแชนส์ให้ประชาชนชาวอเมริกาฟังกันอย่างถ้วนหน้า เมื่อนั้นเอง แซนส์คนสวนที่ไร้ตัวตนก็กลับกลายเป็นคนดังในชั่วข้ามคืน เขากลายเป็นบุคคลที่คนทั่วไปอยากรู้จัก มีทีวี หนังสือพิมพ์ คนใหญ่คนโตมากมายเข้ามาหา
แชนส์มองสิ่งที่เกิดขึ้นด้วยความไม่เขาใจ แต่กระนั้นเขาก็วางตัวสบายๆตามธรรมชาติ ลักษณะของเขา เมื่อเขานิ่ง นั่นเพราะเขาไม่มีอะไรจะพูด แต่คนกลับมองไปว่านี่คือลักษณะของผู้ทรงภูมิรู้ เมื่อเขาพูดถึงเรื่องสวน นั่นเพราะเขาพูดไปตามที่เห็นว่ามันเป็นอยู่ แต่คนกลับมองไปว่าเขากำลังเปรียบเปรยด้วยถ้อยโวหารที่ลุ่มลึกแยบคาย เมื่อแชนส์พูดอะไรอื่นๆ นั่นเพราะเขาพูดไปตามที่เห็นว่ามันเป็นอยู่ แต่คนกลับมองว่าเขากำลังพูดปรัชญาในแบบฉบับที่เรียบง่าย ให้คู่สนทนาสามารถเข้าใจได้โดยไม่ต้องตีความ
สถานะที่ดังขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน ทำให้แชนส์กลายเป็นที่จับตาของประเทศต่างๆรวมถึงอเมริกาเอง ทั้งหมดพยายามขุดคุ้ยหาประวัติ ความเป็นมาของแชนส์คนสวน แต่กลับไม่พบอะไรแม้แต่น้อย จนเกิดเป็นข้อสันนิษฐานต่างๆนานา ว่าเขาอาจเป็นมนุษย์ต่างดาว อาจเป็นสายลับของชาติมหาอำนาจ อาจเป็นผู้ที่กำลังจะก่อการปฎิวัติอเมริกา ฯลฯ และถึงที่สุด ผู้คนในแวดวงธุรกิจต่างคาดการณ์กันว่าอีกไม่นาน หลังจากสามีผู้ทรงอิทธิพลของอีอีตายลง แชนส์นี่แหล่ะที่จะได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านการเงินของอเมริกา
อ่าน Being There จบลง ผู้เขียนต้องอมยิ้มไปกับเรื่องราวที่ไม่น่าเชื่อ แต่ก็เกิดขึ้นได้ในนวนิยายเรื่องนี้ พร้อมกันนั้น ก็เกิดคำถามขึ้นคำถามหนึ่ง ว่าเราจะแนใจได้อย่างไรว่า สิ่งที่เราเห็นด้วยตานั้น คือสิ่งที่เป็นจริง แชนส์เป็นเพียงหนุ่มคนสวนที่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ นั่นคือความจริง เพียงแต่ว่าโชคชะตาได้ดลบันดาลให้เขาเข้าไปอยู่ถูกที่ถูกเวลา ทำให้คนหนุ่มคนสวนที่ไร้ตัวตน กลายเป็นคนดังและมีอิทธิพลต่อคนทั่วไปอย่างไม่น่าเชื่อ
ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ?
พิจารณาเนื้อหาของนวนิยายเรื่องนี้ จะเห็นคำตอบมากมายยิบย่อยเรื่องรายอยู่ อาทิ คนเลือกที่จะเชื่อตามพื้นความรู้ของตน เหมือนอยางที่อีอีเลือกจะเชื่อว่าชื่อจริงของแชนส์คือ เชาวน์ซี กาดิแนร์ ทั้งๆที่แชนส์ไม่ได้หมายความตาที่คนเหล่านั้นตีความไปเองเลย, คนเลือกที่จะเชื่อตามที่ตาเห็น เช่น เชื่อตามที่เห็นจากสื่อ เชื่อตามที่เห็นจากคนอื่นว่าดี เหมือนคนทั่วไปที่เมื่อเห็นว่าคนอื่นนิยมยกย่องแชนส์ ต่างก็พากันเฮโลเลือกที่จะเชื่อว่าแชนส์เป็นคนที่น่านิยมยกย่องไปด้วย หรือแม้กระทั่งการที่คนเลือกที่จะเชื่อตามรายละเอียดมากมายทางสังคม เหมือนที่บรรดาผู้นำของประเทศต่างๆพากันเชื่อว่าแชนส์เป็นมนุษย์ต่างดาว เป็นสายลับ เป็นอะไรต่างๆนานา เพียงเพราะว่าเขาไม่มีปูมหลังประวัติ ทั้งๆที่ในความจริง นั่นเพราะว่าไม่มีใครเป็นธุระจัดการให้เขาได้มีตัวตน มีชื่อเสียงเรียงนามตามระบบสังคม
ทั้งหมดทั้งมวลนั้น คือสิ่งที่ทำให้แชนส์ที่เป็นจริง หาได้เหมือนกับแชนส์ทีทุกคนเห็นและเชื่อว่าเขาเป็น เพราะคนส่วนใหญ่เลือกที่จะเชื่อในรูปแบบต่างๆแล้วก็สรุปความโดยไม่ได้ใช้ปัญญาพินิจพิเคราะห์ให้เห็นความจริงแท้ที่เป็นอยู่
สิ่งที่ Being There นำเสนอสู่เราในฐานนะผู้อ่าน จึงคือภาพของสังคมที่ยุ่งเหยิงด้วยรายละเอียดมากมาย ซึ่งนั่นเป็นผลลัพธ์และต้นเหตุของภาวะความไร้ปัญญาของคนในสังคมทั้งหลายแหล่ ทำให้คนในสังคมนั้นมืดบอด มองไม่เห็น แยกไม่ออกว่าสิ่งใดคือความจริง สิ่งใดคือความลวง สิ่งใดที่มีอยู่ สิ่งใดที่ไม่มีอยู่แต่ถูกสมมมติสร้างขึ้นมา ซึ่งภาวะดังว่านี้ไม่ได้ให้ประโยชน์อันใดเลย นอกเสียจากความมืดบอดอันนำไปสู่ห้วงทุกข์ เพราะมัวแต่ยึดมั่นหรือไล่ล่าตามหา “สิ่งที่เห็น…ว่ามันเป็นอยู่” ทั้งๆที่ในความจริง “ที่เห็น…อาจไม่ใช่ที่เป็นอยู่”
อ้างอิง : Being There “ที่เห็นและเป็นอยู่”, เจอร์ซี โคซินสกี, , มโนภาษ เนาวรังสี : แปล, คำหอม, 2536.
TEXT : กิติคุณ คัมภิรานนท์