ภูเบศวร์ โหยประดิษฐ์

ในจำนวนศิลปะที่เกี่ยวพันกับชีวิตมนุษย์นั้น สถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่สามารถบอกเล่าเรื่องราวและอธิบายตัวตนของผู้คนที่มันเข้าไปเกี่ยวข้องได้มากที่สุด การรังสรรค์งานศิลปะแขนงนี้จึงค่อนข้างซับซ้อนทั้งวิธีสร้างและวิธีคิด ต้องอาศัยทั้งความรู้. ความชำนาญและรสนิยมของศิลปินเอง โดยผ่านกระบวนการศึกษาเฉพาะทางที่เข้มข้น

 

 

แต่ในบางกรณี อาศัยเพียงความสนใจและความตั้งใจจริง การสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมชิ้นเอกขึ้นมาสักชิ้นก็ไม่ใช่เรื่องยาก

 

“ผมไม่ได้เรียนสถาปัตยกรรมมาโดยตรง แค่ได้เรียนบ้าง 2 – 3 วิชากับท่านอาจารย์หลวงวิศาลศิลปกรรม (เชื้อ ปัทมจินดา) สมัยเรียนอยู่คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เพราะฉะนั้นงานของผมจึงอาจจะไม่เหมือนกับงานของสถาปนิกที่เขาเรียนมาทางสถาปัตยกรรมศาสตร์โดยตรง” ภูเบศวร์ โหยประดิษฐ์ เริ่มต้นบทสนทนาของเราในวันนี้

 

“ผมสนใจองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมของช่างไทย ซึ่งมีความซับซ้อนทว่าชาญฉลาด นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมบ้านทรงไทยจึงอยู่สบาย องค์ความรู้เหล่านี้ทำให้สถาปัตยกรรมเหมาะสมกับตัวตนและดินฟ้าอากาศของผู้อยู่อาศัย เวลานี้ผมจึงพยายามประยุกต์อาคารทรงไทยให้มีความร่วมสมัย หมายความว่าเป็นบ้านทรงไทยที่คนปัจจุบันสามารถเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างสะดวกสบาย

 

“สิ่งที่เน้นโดยตลอดคือความกลมกลืนของอาคารกับสิ่งแวดล้อมโดยรอบ บ้านของคนไทยสมัยก่อนจะมีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่งระหว่างพื้นที่ว่าง, ต้นไม้, น้ำและตัวอาคาร ซึ่งความกลมกลืนนี่เองที่ทำให้บ้านทรงไทยโดดเด่นสวยงาม”

 

ผลงานชิ้นสำคัญที่ภูเบศวร์ภาคภูมิใจอย่างยิ่ง คือหมู่เรือนไทยสุดอลังการของคุณกมล เอี้ยวศิวิกูล ที่จังหวัดนครปฐม ซึ่งเกิดขึ้นได้จากความรักในสถาปัตยกรรมไทยของเจ้าของบ้านบวกกับความตั้งใจจริงของผู้ออกแบบ

 

“เราก็ต้องมาคุยกันก่อนว่าอยากได้อะไร แบบไหน หลังจากนั้นผมก็จะไปหาข้อมูลมาเสนอ ทั้งจากเอกสารและดูของจริงจากพื้นที่จริง เริ่มตั้งแต่การวางผัง, รูปแบบอาคาร, การตกแต่ง, แนวคิด , ศิลปะการตกแต่งเรื่อยไปจนแม้กระทั่งการใช้สี…หลายครั้งที่ผมต้องขอความเห็นและขอความช่วยเหลือจากอาจารย์และรุ่นพี่ในคณะ ซึ่งทุกท่านก็ให้ความเกื้อกูลผมอย่างดีเสมอมา

 

“ส่วนหนึ่งเพราะผมอยากจะแสดงให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมไทยยังสามารถอยู่ในสังคมไทยได้อย่างสมภาคภูมิ ทาสำคัญที่สุดคือผมกำลังนำเสนอสุนทรียะของงานจิตรกรรมผ่านไปบนงานสถาปัตยกรรม” ภูเบศร์เฉลยแนวคิดในการสร้างงานของเขาพร้อมรอยยิ้ม

 

 

______________________________

ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS-273

ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร  HI-CLASSห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย

 

 

 

 

You may also like...