ศ. ดร. อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม
สุนทรียศาสตร์เหล่านี้ทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านความรู้สึกที่กลั่นออกมาจากสำนึกอันละเอียดอ่อนทว่าทรงพลังของศิลปินผู้รังสรรค์ แม้เมื่อวันเวลาผันผ่าน ศิลปะจะมีพัฒนาการไปตามยุคตามสมัย แต่คุณลักษณะและเจตคติในการสะท้อนสังคม และประคับประคอง จิตวิญญาณปวงชนยังคงเดิม
ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยหากศิลปินผู้หนึ่งจะสร้างสรรค์ศิลปะอันทรงคุณค่าออกมาแต่ละชิ้น และยิ่งทวีความยากขึ้นหากศิลปินผู้นั้นต้องกลาย มาเป็นหัวเรือใหญ่ผู้กุมอนาคตแห่งวงการศิลปะเอาไว้ เส้นทางแห่งศิลปะและวิชาการที่เคยถูกมองว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง วันนี้ถูก เชื่อมประสานเข้าเป็นทางสายเดียวกัน ผ่านบทบาทของ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ศิลปินผู้เคยเป็นที่จับตามองของสังคม ก่อนจะผันตัวเองมารับหน้าที่สำคัญในฐานะผู้บริหารองค์กรซึ่งดูแลการ วัฒนธรรมการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคม โดยอาศัยผ่านกลไกด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือในการหล่อหลอมทัศนคติและแนวคิด ที่ดีงามให้เกิดขึ้น สร้างความหวังและสานความฝันให้กับวงการศิลปะไทยในขณะเดียวกัน
ตอนเป็นเด็กผมเรียนศิลปะมาโดยตลอด ไปเรียนที่อังกฤษกับสก็อตแลนด์ พอจบปริญญาโท ก็มุ่งมั่นที่จะสอนแล้วก็ทำงานศิลปะจึง เข้าสอนที่คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย แต่ช่วงนั้นก็ยังทำงานศิลปะอยู่ มีการส่งประกวดด้วยเรียกว่าชีวิตเป็นศิลปิน สามปีหลังจากการสอนก็ได้รับทุนจากจุฬาฯ ไปทำปริญญาเอกสาขาประวัติศาสตร์ศิลปะ ที่มหาวิทยาลัยคอร์แนล ผมไปอยู่ประมาณ ๕ ปี กลับมาก็มาใช้ทุนที่จุฬาฯ ช่วงนั้นก็เลยหันเหไปทำงานวิชาการมากกว่านะครับ
ระยะนั้นงานหลักก็คือสอนกับจัดงานศิลปะ งานสร้างสรรค์ส่วนตัวก็เลยหดหายไป ทำงานมาเรื่อยๆจนถึงปี ๒๕๔๔ ทางรัฐบาลก็มีการ ปฏิรูปราชการ และมีการตั้งกรมใหม่ขึ้นมาในกระทรวงวัฒนธรรม ก็คือสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย มีการสรรหาบุคลากรที่จะ เข้ามาบริหารจัดการ ผลก็คือผมต้องย้ายงานจากจุฬาฯมาทำงานที่กระทรวงมีช่วงหนึ่งที่ผมเป็นนักวิจารณ์ที่บางกอกโพสต์ด้วย ซึ่งมันดู ขัดกัน บ้านเราอาจจะไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก แต่ถ้าเผื่อมันไม่มีการเขียนวิจารณ์ที่มากมายหลากหลาย วงจรของมัน คือการสร้าง งานศิลปะ กรเขียนวิจารณ์ที่มากมายหลากหลาย การแสดงงานศิลปะ การได้รับการวิจารณ์ มันก็ยังไม่ครบวงจร เมื่อศิลปินถูกวิจารณ์ แล้ว บางครั้งก็อาจจะไม่พอใจเท่าไร เขายังทำงานในสไตล์เดิมๆที่เป็นที่ยอมรับเท่านั้น ไม่เห็นจะเป็นไรนี่ครับ ซีกการเมืองก็ถูก วิพากษ์วิจารณ์กันมากมาย(หัวเราะ) มันเป็นลักษณะของการปะทะนะครับ
ช่วงที่ผมเรียนนี่ ผมถูกสอนให้เรียนสองอย่างตลอด คือประวัติศาสตร์ศิลปะกับเรื่องของการปฏิบัติศิลปะ เพราะฉะนั้นมันมีความขัด กันมาตั้งแต่แรก ตรงนั้นก็เป็นการเอาความกดดันเรื่องอยากทำงานศิลปะไปปลดปล่อย แต่ก็ยังเกี่ยวข้องกับศิลปะอยู่ ทำงานเกี่ยว ข้องกับศิลปิน ”
ดร.อภินันท์กล่าวพร้อมรอยยิ้ม พันธกิจสำคัญของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย คือการสร้างสรรค์ สืบทอด ประคับ ประคองศิลปนาวาลำนี้ให้แล่นเรื่อยไปอย่างองอาจงามสง่า นำพาสุนทรียสมบัติอันล้ำค่าไปสู่ฟากฝั่งแห่งความเจริญของมนุษยชาติ
” ศิลปะร่วมสมัยและศิลปะแบบประเพณีมีการเชื่อมโยงกันตลอด ถ้าเรามองว่าสมัยก่อนเรามีศิลปินเก่งๆที่สร้างมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไว้ เราก็ต้องมองว่าเดี๋ยวนี้ศิลปินร่วมสมัยก็กำลังสร้างมรดก ร่วมสมัยอยู่ ซึ่งมันก็จะเป็นมรดกของชาติเราสืบต่อไป จุดเชื่อมตรงนี้เป็นจุดสำคัญ ที่ศิลปินคิดว่าเขาไม่ควรจะตัดขาดรากเหง้ามรดก เพื่อไปทำอะไรที่แหวกแนวกว่าเดิม ก็อาจจะศึกษาของเดิม แล้วไปต่อยอด เพื่อให้มีความหลากหลาย และเป็นความทันสมัย นี่เขา เรียกว่าต่อยอด
ผมคิดว่าบ้านเรามีทรัพยากร คือศิลปินที่มีความสามารถในแต่ละสาขาเยอะมาก แต่ส่วนใหญ่เขาจะกระจุกตัวในกลุ่มของเขา เชิงบูรณา การนี่จะยังไม่มีเท่าที่ควร เช่น ทัศนศิลป์อาจจะมาทำเรื่องฉาก เวที หรือว่าภาพยนตร์อาจจะไปเกี่ยวข้องกับทัศนศิลป์หรือว่าดีไซด์ เมื่อก่อนเราไม่ค่อยมี
แต่เดี๋ยวนี้การไขว้ประสานตรงนี้มันเริ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เกิดมีมิติขึ้นมาทัศนศิลป์มันอาจจะไม่ใช่ภาพที่แขวนบนผนังหรือประติมากรรม ที่ตั้งอยู่บนฐาน มันอาจจะมีมิติอื่น เช่นภาพยนตร์ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย แต่ในเวลาเดียวกัน ทางฝ่ายรัฐเองก็ยังไม่ค่อยผลักดันตรงนี้ เท่าที่ควร องค์กรของรัฐยังไม่มีเหมือนกับมูลนิธิญี่ปุ่น หรือว่า Gerthe หรือว่า Allians หรือว่าสถาบันที่ดูแลเรื่องศิลปวัฒนธรรมโดยตรง
ตอนเราเปิดสำนักงานขึ้นมาใหม่ มีบุคลากรอยู่สองคน หลายคนก็บอกว่า…กรมนี้มันคืออะไร หน้าที่คืออะไร
แม้แต่คนในกระทรวงเองก็ยังไม่เข้าใจ ก็ต้องอธิบายและต้องรีบผลิตผลงาน อันที่จริงเราช่วยเติมเต็มกรมศิลป์ กรมการศาสนา และ อื่นๆ ที่มันยังมีจุดว่างอยู่ ไม่ใช่อะไรที่ทำขึ้นมาแล้วแค่ตอบสนองกลุ่มศิลปิน ซึ่งเราต้องอธิบายว่าไม่ใช่ เราต้องช่วยศิลปินด้วยเหมือน กันเพราะว่าศิลปินนี่ไม่มีรัฐบาลไหนที่มีหน่วยงานราชการเข้ามาดูแลหรือช่วยเหลือเราต้องตอบปัญหาให้ได้ว่ากรมนี่เป็นตัวเชื่อมอย่าง ไรให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างศิลปะกับสาธารณชน เราได้อะไรมาจากศิลปะ ซึ่งตอนนี้ความเข้าใจก็มีมากขึ้น”
ท่ามกลางสถานการณ์เลวร้ายของสังคมปัจจุบัน จิตวิญญาณมนุษย์ลุ่มหลงมัวเมาในมายาคตินานาประการ พายุตัณหาโหมกระหน่ำให้ มนุษย์ล่องลอยอยู่ในกระแสกิเลส ศิลปะอาจเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่คาดหวังกันว่าจะมีพลังอำนาจมากพอจะฉุดดึงสำนึกส่วนดีให้กลับคืน มาได้ ครั้งหนึ่งศิลปะมีศูนย์รวมอยู่ในวัดและวัง แต่ในยุคที่ผู้คนศรัทธาศูนย์การค้ามากกว่าวัดอย่างทุกวันนี้ ศิลปะเองก็ต้องเคลื่อน ย้ายตัวเองมายัง”วิหารใหม่” แห่งนี้เช่นกัน
“เมื่อก่อนนี้วัด วังอาจจะเป็นที่รวมของสังคมเพราะไม่มีทางเลือกอื่น ความบันเทิงต่างๆจะอยู่ในวัดและวัง เพราะเมื่อก่อนนี้สังคมไม่มี ห้างสรรพสินค้ามาเป็นตัวเลือก แต่ปัจจุบันนี้เรามองกลับกันว่า คนไม่เข้าวังไม่เข้าวัดแล้ว แต่ว่ามาใช้ชีวิตอยู่ในวิหารใหม่ ผมคิดว่ามัน ไม่ใช่แค่เหตุการณ์ในประเทศไทยนะครับ ลักษณะของการนำเสนอสินค้า สังคมแบบ Commodity การนำเสนอสิ่งต่างๆที่เป็นproduct หรือว่าสินค้านี่มันสะกดอยู่ทั่วทุกหนแห่งนะ คือเราต้องมองศิลปะนี่เป็นผลิตภัณฑ์ด้วย
การไหลเทของวัฒนธรรมมันหลอมรวมรสนิยมของคนให้ออกมาลักษณะนั้น เราก็ตระหนักในเรื่องของสิ่งเหล่านี้ มีความกังวลว่าถ้าเผื่อ คนใช้เวลาส่วนใหญ่ในห้างสรรพสินค้าแต่อย่างเดียว มันจะเกิดอะไรที่ไม่สู้จะดี แต่ไม่ใช่ว่าห้างสรรพสินค้านี่จะไม่ดีทุกอย่างนะครับ (หัวเราะ) แต่จะทำอย่างไรให้คนออกมาจากห้าง แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่จำเป็นต้องเข้าไปในวัดหรือวังเสมอไป
ก็คือการทำให้คนมีตัวเลือกอื่น เวลานี้เขาเข้าแต่ห้างเพราะว่าทุกอย่างมันเบ็ดเสร็จอยู่ในนั้น ตั้งแต่ทานข้าว ดูหนัง ซื้อของ มันเบ็ดเสร็จ เรื่องของเวทีของศิลปวัฒนธรรม ถ้าเผื่อเรามีอย่างเช่น สยามนิรมิตพูดถึงในยุคนี้มีสยามพารากอนก็ต้องพูดถึงสยามนิรมิตใช่ไหม ครับ ถ้าเผื่อเรามีที่แบบนี้ให้ประชาชนเลือกได้ว่าการให้การบันเทิงอื่นๆมันคืออะไรเพราะว่าการบริหารเวลาว่างหรือว่าRicher management นี่มันเป็นสิ่งที่สำคัญมาก การบริหารเวลาว่างของประชาชนก็คือการดุแลและควบคุมประชาชน Art Market ก็เป็นตัวอย่าง ผมคิดว่าเรา ค่อนข้างประสบผลสำเร็จ เพราะอันที่จริงเราไม่ได้เน้นการผลิตศิลปินห้าดาว ศิลปินระดับชาติหรือนานาชาติ แต่ในมุมกลับกันนี่
เราก็ได้รับนโยบายว่าอยากจะให้มีพื้นที่และโอกาสให้ศิลปินที่ยังไม่ค่อยมีชื่อเสียงนัก หรือยังไม่ดังนัก ได้มีโอกาสในการผลิตผลงาน แล้วก็จำหน่ายในราคาที่ย่อมเยานะครับ อย่างกรณีหอศิลป์ มันควรจะต้องมีครบวงจร คือไม่ได้มีห้างอยู่ในหอศิลป์นะ (หัวเราะ) แต่มี ศิลปะที่หลากหลาย คือไม่ใช่แขวนรูปอย่างเดียว ไปดูหนังก็ได้ ไปนั่งฟังเพลงก็ได้ คือมันจะต้องเป็นแหล่งมั่วสุมอย่างสร้างสรรค์ แล้วไม่ใช่บ่ายสี่โมงปิดนะครับ อยู่ถึงสี่ทุม ห้าทุ่มไปเลย เป็นพื้นที่ที่ในต่างประเทศรัฐบาลเขาก็สนับสนุน
เรื่องวัดนี่นะครับ ถ้าถามผมนะ ก็บอกว่า วัดมันเป็น…(ทำท่าคิด) คือไปจีบกันก็ไปจีบที่วัดนี่แหละ มันเป็นอะไรที่เน้นความบันเทิงด้วย หรือแม้ว่าไปฟังเทศน์ตอนเช้า ตอนค่ำก็มีงาน อย่างกรณีนี้ แทนที่เราจะไปเน้นว่าต้องสร้างพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่โตขึ้นมา เรามองว่าทำไม ไม่เข้าไปบริหารจัดการวัดโพธิ์ ยกตัวอย่างนะครับ การดึงคนให้เข้าไปศึกษาศาสตร์ของสมุนไพร เรื่องของการนวด เรื่องของการ ปฏิสัมพันธ์ตรงนี้ ซึ่งเมื่อก่อนวัดโพธิ์ก็ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการรวมคน ก็อาจจะเป็นการดึงดูดให้คนเข้าไปศึกษาในวัดมากกว่า
แต่วัดก็ต้องไม่นำเสนอเรื่องของวัตถุนิยมมากเกินไปนะครับ เพราะเข้าไปในวัดบางทีเราเห็นเต็มไปด้วยเรื่องของเช่าพระ หรือว่าการ เอาสิ่งต่างๆเข้ามาขายในวัด มันก็ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์หรือความสงบภายในวัด ลดลงไปยกตัวอย่างนี้เพื่อให้เห็นว่าการไปห้างก็ไม่ได้ เสียหายเท่าไรเลย ถ้าไปอย่างรู้ทิศทาง”
ในฐานะที่เป็นความหวังล่าสุดของวงการศิลปะ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยจึงกลายเป็นที่พึ่งสุดท้ายที่ศิลปินทั้งหลายจะให้มาช่วย เยียวยารักษาบาดแผล ต่อลมหายใจให้ยืนยาวออกไปได้
“พวกศิลปินเขามากับอะไร…เขามาพร้อมกับโครงการเพื่อจะขอเงิน(หัวเราะ) แต่ผมก็บอกว่า งบประมาณเราก็มีนะครับ…แต่ว่าไม่มากนัก หน่วยงานรัฐเกิดขึ้นมา ศิลปินก็ตั้งความหวัง ซึ่งผมไม่ว่าเขาเลยนะฮะ มันเหมือนกับว่าเขาถูกทอดทิ้งมาโดย ซึ่งส่วนไหนที่เราช่วยได้ เราก็ช่วย
ผมคิดว่าที่มาช่วยนี่ เราช่วยได้ในระดับหนึ่ง เราคงไม่ได้บอกว่าศิลปะเหล่านั้น ต้องปั้มอ็อกซิเจนกันแล้ว มันมีวงจรของมัน วันหนึ่งมัน ก็จะมีประกายใหม่ขึ้นมา การที่เราไปช่วยตรงนี้ เพียงให้เร็วและแรงขึ้นเท่านั้น ถึงแม้ว่าจะไม่มีเราเลยนะครับ ประกายนี้ก็จะเกิดขึ้น ถ้าเกิดมันมีจุดลงก็ต้องมีจุดขึ้น เราเข้าไปเหมือนกับเป็นตัวกระตุ้นในการสร้างประกายนี้ให้ผุดขึ้นมา อาจจะมีหลายๆประกายขึ้นมา ไม่ใช่ว่ามีแค่ประกายเดียว เวลาเราอยู่ในวงการศิลปะ พอเราไปมองในเรื่องของวัตถุนิยมนะครับ
เราไปมองเหมือนกับเป็นเรื่องอะไรที่ไม่ดี เป็นเรื่องของทุนนิยม เรื่องของการทำให้มนุษย์นิยมเรื่องของวัตถุเกินไป สิ่งที่ต้องให้ความ สำคัญมากคือเรื่องของความงามและความสุนทรี ซึ่งส่วนใหญ่เราจะมองในมิติตรงกันข้ามกับวัตถุนิยม ถ้าเผื่อมองว่าเอาศิลปวัฒนธรรม มาเพิ่มคุณค่าหรือเติมภูมิปัญญาลงไปในเรื่องของการผลิต ในกรณีนี้หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ก็เป็นผลิตภัณฑ์ ซึ่งอาจจะมองว่าอันนี้ เป็นส่วนหนึ่งของทุนนิยม หรือเปล่า
เราก็อาจมองว่า การพยายามทำให้ OTOP เกิดขึ้นมาได้นี่ เป็นการพยายามหารายได้ให้กับตำบลนั้นๆ แต่ถ้าเรามองว่าตัวผลผลิตนั้น มันเป็นสิ่งที่ผลิตออกมาอยู่ปลายน้ำ ทางด้านศิลปะก็คงต้องมองว่าไอ้ต้นน้ำนั่น เราดูแลหรือยัง ศิลปินและช่างก็คือผู้คิดผู้สร้างสรรค์สิ่ง เหล่านี้ ศิลปินอาจจะไม่มีส่วนร่วมในการเติมความคิดเติมงานสร้างสรรค์ให้ OTOPมีความหลากหลายมีความโดดเด่น เพิ่มดาวให้กับ OTOPขึ้นมาได้ ซึ่งอันนี้ก็แล้วแต่การมองนะครับว่า ศิลปะนี้จะไปสนับสนุนเรื่องวัตถุเสมอไป ผมก็คิดว่ามันขึ้นอยู่กับการจำแนกแยก ออกของแต่ละคนที่มอง”
นอกจากศิลปะในการสร้างงานอันงดงามไว้ประดับโลกแล้ว ดร.อภินันท์ ยังมองว่าศิลปะในการสร้างคน และศิลปะในการทำงานก็สำคัญ ไม่แพ้กัน ภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยอีกข้อหนึ่ง จึงอยู่ที่การยืนอยู่เพื่อร่วมฝ่าฟันเคียงบ่าเคียงไหล่ไป กับศิลปินทั้งมวล
“การทำงานในกรมนี้ มันจับต้องยาก เป็นนามธรรมมาก เคล็ดลับของผมก็คงจะเป็นการให้พวกเขาทำอะไรเป็นขั้นตอนไป ค่อยๆแก้ไข อุปสรรคเป็นเปลาะๆไป แต่ที่สำคัญจะต้องสร้างขวัญกำลังใจ ให้กับบุคลากร อันนี้สำคัญมากเพราะเขาเป็นแขนขาของเรา ถ้าผมบอกผม รับหนัก ลูกน้องผมรับหนักกว่าผมอีก กลุ่มคนเหล่านี้จะต้องทำงานเป็นทีม ต้องออกไปร่วมงานกับศิลปิน
ซึ่งตรงนี้ศิลปินบางคนเขาก็ไม่เข้าใจนะ ว่าราชการเป็นอย่างไร การเบิกจ่ายเป็นอย่างไร เขาไม่มีเวลาเขาก็มองว่าเรื่องมาก จะมาของ อะไรต่างๆนี่มันต้องมีขั้นตอนอะไรหยุมหยิมไปหมด แต่พอเขาเข้าใจ ศิลปินนี่จะเป็นกระบอกเสียงที่ดีที่สุด อนาคตอันไกลๆ ผมไม่ทราบ กรมนี้มันอาจจะเปลี่ยนรูปแบบของมันต่อไป อาจจะมีองค์กรที่ใหญ่ขึ้น แล้วอันนี้เข้าไปรวมด้วยก็ได้ มันมีความเป็นไปได้ทั้งนั้น คนที่จะ เข้ามาทำงานตรงนี่ก็ต้องมีทั้งความเป็นศิลปิน และนักบริหารอยู่ในตัว ปัญหาคือ ที่นี่เป็นหน่วยราชการ คนจะเข้ามาได้ต้องเป็นข้า ราชการ แต่ผมคิดว่าต้องมี หรือไม่อย่างนั้นเราก็จะพยายามสร้างเขาขึ้นมาให้ได้”
ดร.อภินันท์ทิ้งท้ายให้เราเห็นภาพอนาคต
——————————————————————————–
ที่มา : นิตยสาร HI-CLASS
ข้อเขียนนี้ เป็นลิขสิทธิ์ของนิตยสาร HI-CLASS ห้ามนำไปลอกเลียน ทำซ้ำ หรือ ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฏหมาย