ทวีเวท ศรีณรงค์

ต้นปีพุทธศักราช 2551 ภายหลังการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ สื่อมวลชนต่างนำเสนอพระกรณียกิจ มูลนิธิ และโครงการในพระอุปถัมภ์ สู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในนั้นคือดนตรีคลาสสิคที่ทรงโปรดปราน อันเป็นที่มาของการรับรู้เรื่องราวเกี่ยวเนื่องกับดนตรีคลาสสิคในวงกว้าง ซึ่งอานิสสงส์ดังกล่าวส่วนหนึ่งได้ทอประกายแสงแห่งโอกาสให้ เป้-ทวีเวท ศรีณรงค์ นักเรียนทุนดนตรีคลาสสิคในพระอุปถัมภ์ฯ คนแรก ซึ่งต่อมาคือนักไวโอลินคนไทยคนแรกที่ได้ขึ้นแสดง ณ คาร์เนกี้ฮอล์ (Carnegie Hall) เวทีที่นักดนตรีมักถือว่าเป็นจุดสูงสุดในชีวิต เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในหมู่คนไทย หลังจากตระเวนสั่งสมประสบการณ์สร้างชื่อเสียงระดับโลกมานานนับสิบปี

 

 

“ผมเริ่มทัวร์คอนเสิร์ตต่างประเทศตั้งแต่อายุ 13 ได้เห็นคนต่างประเทศเขาทำก็คิดว่ามันน่าจะลองดู ควรจะเริ่มตั้งแต่เด็ก จึงต้องไปตั้งแต่ตอนนั้น ผมเป็นคนไม่เผื่อสำรอง เช่น เวลาสมัครเรียนต่อก็เลือกที่เดียวตลอด ต้องลุย เมื่อหลังชนฝาจะโชว์ความสามารถที่แท้จริงของตัวเองออกมา ถ้ามันไม่ได้ก็ถือว่าสู้แล้ว แต่ถ้าได้ก็จะรู้สึกว่าชนะ ย้อนกลับไปเมื่อตอนที่ได้รับพระราชทานทุนฯ นับเป็นการต่อชีวิต ตอนนั้นผมได้ทุนเรียนอยู่ปี 2 ที่ Royal Academy of Music London แต่ต้องหลังชนฝาเรื่องค่าใช้จ่ายเพราะลดค่าเงินบาทคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่มีให้ ผมคิดว่าคงจะต้องกลับบ้านแน่ๆ ไม่ได้คิดว่าจะกลับมาทำอะไร ผมแค่ทำตรงนี้ให้เต็มที่ให้โชคชะตาพาไป กระทั่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงทราบเรื่องได้รับพระราชทานความช่วยเหลือ”

 

ลูกชายคนโตของครอบครัวดนตรี ‘ศรีณรงค์’ ย้อนรำลึกถึงอดีตบนเส้นทางตัวโน๊ต ซึ่งปัจจุบันสำเร็จการศึกษาปริญญาโท The School of Music Yale University และกำลังทำดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกอยู่ที่ Stony Brook University สหรัฐอเมริกา

 

“ผมเป็นคนที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้เสมอว่าช่วงเวลานี้และข้างหน้าผมอยากทำอะไร เช่นตั้งเป้าว่าอยากเล่นดนตรีที่คาร์เนกี้ฮอลล์ผมก็เดินไปตามความฝัน แล้วผมก็ไปถึงฝันนั้นเมื่ออายุ 24 ตอนนั้นแฮปปี้มาก หากไม่สัมผัสเองก็คงไม่รู้ว่า ผมไม่รู้หรอกนะว่าเป็นคนไทยคนที่เท่าไหร่แต่เป็นนักไวโอลินคนไทยคนแรกที่ได้รับโอกาสนี้ แต่ลกึๆ ก็คิดว่าเราน่าจะทำได้ดีกว่านี้ เวลาฝึกซ้อมผมคิดเสมอว่าต้องคิดว่าทำอย่างไรถึงจะเล่นให้ดี ไม่ให้ไปขายหน้าบนเวที คิดแค่นั้น…อยากจะไปขายหน้ารึเปล่า”

 

“คนอื่นเห็นว่าผมได้ทำนู่นทำนี่ประสบความสำเร็จ แต่สิ่งที่ไม่ได้เห็นคือผมล้มเหลว แข่งขันไม่ได้ก็มี ผมทำไม่ได้ก็เยอะเพียงแต่ว่าผมไม่ได้เล่าให้ใครฟังเท่านั้นเอง ผมไม่ใช่คนเพอร์เฟ็คต์ แต่ถ้ายอมแพ้ก็จบ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เป็นเจ้าชีวิตผมคนหนึ่ง ถ้าไม่ได้รับพระราชทานความช่วยเหลือจากพระองค์ท่านก็ไม่ได้มีผมในวันนี้ ไม่สามารถเรียนจบปริญญาตรีและต่อปริญญาโท กระทั่งเรียนต่อปริญญาเอกในทุกวันนี้ แม้กระทั่งท่านสิ้นพระชมน์แล้วยังมีบารมีให้กับเราอีก

 

“หลังจากพระองค์ท่านสิ้นพระชมน์มีการพูดถึงทุนดนตรีคลาสสิคฯ ซึ่งมีมานานแล้ว แต่เงียบมากโดยพระองค์ท่านดูแลเอง ไม่ได้เปิดรับสมัครแต่จะทรงเลือกเอง เมื่อมีข่าวออกมาเกี่ยวกับโครงการนี้ทำให้เป้กับป่านและปุยมีคนให้ความสนใจ ขนาดพระองค์ท่านไม่อยู่แล้วยังช่วยเราอยู่จนทุกวันนี้คนรู้จักพวกเราไม่ใช่ฐานะ VieTrio นะครับแต่ในฐานะนักเรียนทุนฯ หน้าที่ของผมตอนนี้คือจะต้องทำให้กว้างอย่างที่พระองค์ท่านต้องการให้ดนตรีคลาสสิคกว้างขวาง ทรงรับสั่งไว้ว่าอยากให้ดนตรีคลาสสิคกว้างขวางในบ้านเรา เป็นทุนที่ให้เปล่าแต่ และอยากให้เราไปสร้างชื่อเสียง เลยรู้สึกว่าเป็นหน้าที่และความรักที่เราอยากจะทำด้วย จึงต้องลุยอย่างเดียว นักเรียนทุนฯ ทุกคนต่างก็คิดแบบนี้”

 

สำหรับเขาการเป็นนักดนตรีคลาสสิคนั้นเป็นอาชีพได้แต่ต้องฝึกฝนจนชำนาญ หลายคนอาจคิดว่าเรียนจบทางด้านดนตรีแล้วต้องกลับมาทำงานสอนหนังสือเท่านั้น แต่เมื่อเล่นดนตรีต้องมองให้ออกนอกกรอบ

 

“ดนตรีเป็นภาษาสากลสื่อสารได้ทั่วโลกไม่ว่าดนตรีคลาสสิคหรือดนตรีป๊อป การฟังเพลงไม่ได้ฟังที่ภาษา ผมเชื่อว่าหากทำอัลบั้มออกมาดีทุกเพลง ไม่ใช่ว่ามี 10 เพลง แต่มีเพลงดีขายได้แค่ 2 เพลง คนฟังก็ไปดาวน์โหลดในอินเตอร์เน็ตใครจะซื้อ ถ้าโทษก็ต้องโทษทั้งสองฝ่ายฝ่ายที่ดาวน์โหลดก็แย่ต้องสร้างทัศนคติใหม่ ขณะเดียวกันคนทำเพลงถ้าทำออกมาดีทั้งอัลบั้มมันก็สำเร็จ เราได้ฟีดแบคกลับมาดีพอสมควรเคยพบคนหนึ่งเขาบอกว่าเมื่อก่อนก็ดาวน์โหลดฟังและรวมถึงอัลบั้มของเราด้วยแต่พอได้ฟังแล้วก็ไปซื้อแผ่นจริงมาฟัง แสดงว่าการที่เราตั้งใจทำเมื่อมีคนชอบเขาก็ไปซื้อของจริงมาฟัง”

 

ถึงตอนนี้เขามีอัลบั้มซึ่งทำร่วมกับน้องสาวอีกสองคนในนาม VieTrio เป็นอีกภาพหนึ่งหลังจากถูกจดจำในฐานะนักดนตรีคลาสสิค เพราะงานล่าสุดนี้ได้ฉีกภาพเดิมๆ ออกไป แต่ก็ไม่ได้ละทิ้งคุณค่าที่พวกเขาซาบซึ้ง และตระหนักในหน้าที่สนองพระคุณแห่งพระผู้ทรงพระราชทานเส้นทางอาชีพและโอกาสในชีวิต

 

“เมื่อมีโอกาสได้ทำเพลงผสมระหว่างเพลงคลาสสิคและเพลงกระแสผมคิดว่าดีมาก เพราะในเมืองไทยที่ไม่กล้าทำอะไรแบบนี้ก็มีพี่บอย (ถกลเกียรติ วีรวรรณ) นี่แหละครับ ใช้เวลาในการทำอัลบั้มหนึ่งปี หลายคนอาจจะคิดว่าเป้-ป่าน-ปุย มีชื่อเสียงมาจากช่วงหลังจากสมเด็จฯ กรมหลวงฯ สิ้นพระชนม์ พี่บอยจึงดึงมาทำอัลบั้ม แต่ในการทำอัลบั้มนั้นเราเริ่มกันมาก่อนหน้านั้น นับจากปีที่แล้วตอนนั้นผมกลับมาเล่นคอนเสิร์ตที่เมืองไทย รวมถึงคอนเสิร์ตแสงหนึ่งคือรุ้งงามฯ พี่บอยได้เห็นผมเล่นไวโอลินครั้งแรกจึงมาคุยกันว่าอยากทำงานนี้ขึ้นมา ผมก็เสนอว่าเราเรียนมาเยอะอยากใช้ความสามารถตัวเองแต่งเพลง”

 

“ในฐานะของการเป็นคนสร้างสรรค์ เดินๆ อยู่ได้ยินเพลงของตัวเองก็ขำๆ นะ หรือพอได้สร้างเพลงที่ตัวเราเขียนมันก็เป็นความสุขส่วนตัวและรักที่จะทำ ผมอยากให้คนได้ฟังสิ่งที่เราสนุกในการทำ เรารู้ว่ามันไม่อยากเป็นสิ่งที่คนอื่นสนุกสนานได้ก็อยากให้คนอื่นสัมผัสก็แค่นั้น ถ้าหากผมทำดนตรีเพื่อยอดขายหากจะทำผมไปทำอัลบั้มเพลงร๊อคเจาะตลาดกว้างไม่ดีกว่าหรือ แต่จะทำไปเพื่ออะไร เมื่อเรามีความสามารถทำในสิ่งแปลกๆ ประหลาดๆ ได้ก็ทำเป็นสีสันให้บ้านเมือง ให้เห็นว่าเมืองไทยก็มีแบบนี้ ให้เห็นว่านักดนตรีไม่จำเป็นต้องเต้นกินรำกิน ถ้ามีความขยันและรักที่จะทำช่องทางมันมีอยู่แล้วทั้งในและนอกประเทศ”

 

 

You may also like...