ขึ้นชื่อว่ามนุษย์ ไม่ว่าจะร่ำรวย มีกิน หรืออดอยาก ต่างก็ล้วนมีปัญหาหรือปมขื่นในชีวิตด้วยกันทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการความขมขื่นในชีวิตของตนอย่างไร
ครอบครัวคอนลอนมีพ่อขี้เมา มีแม่ป่วยไข้ มีลูกชายคนโตที่หลงแฟนจนทิ้งน้อง และมีลูกชายคนเล็กที่เก็บกดซึมเสร้า ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าครอบครัวนี้แตกสลาย และความแตกสลายนั้นก็ได้กระหน่ำรอยแผลลงในชีวิตของทุกคน ทอมมี่ลูกชายคนเล็กหนีไปกับแม่ จนแม่ตาย
เขาไปเป็นนาวิกโยธิน ได้เห็นเพื่อนตายอย่างไม่เป็นธรรม จึงหนีทหารกลับมาบ้าน และเกิดความคิดที่จะสมัครเข้าแข่งขันศิลปะการต่อสู้แบบผสมผสานหรือ Mixed Martial Arts ทอมมี่ขอให้พ่อมาช่วยเป็นเทรนเนอร์ให้ เหมือนสมัยก่อนที่พ่อสอนเขาเล่นมวยปล้ำ โดยมีข้อแม้ว่า ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ต้องเป็นไปในแบบโค้ชกับนักสู้เท่านั้น
พร้อมๆกัน เบรนดัน พี่ชายของทอมมี่ที่ปัจจุบันเป็นครูสอนฟิสิกส์ ก็กำลังประสบปัญหาหนี้สินจนบ้านจะถูกยึด เพื่อพยุงครอบครัวของตัวเอง เขาจึงคิดจะลงแข่งต่อสู้รายการเดียวกับทอมมี่ เมื่อนั้นเอง รายการพี่น้องตะบันหน้ากันจึงเกิดขึ้น และเป็นเรื่องราวที่ Warrior ได้เล่าสู่ให้เราฟัง
ลำพังแค่ปรายตาดูโปสเตอร์หนัง ก็แทบไม่ต้องคาดเดาเลยว่า Warrior เป็นหนังบู๊ แต่ถ้าได้ชมแล้วจะพบว่า นี่เป็นหนังชีวิตที่นำเสนอในรูปแบบหนังบู๊ เหมือนกำปั้นสอดไส้น้ำตา และตัวหนังเองก็ทำออกมาได้ดีทั้งมิติความบู๊และความดราม่า ในแง่หนึ่ง Warrior ถือเป็นหนังบังเอิญจำพวกที่ว่าศัตรูเป็นพ่อลูกกัน หรือพี่ชายน้องสาวที่พลัดพรากกลับมาหลงรักกัน ซึ่งเอาเข้าจริงๆแล้วถือว่าค่อนข้างจำเจสำหรับคอหนัง แต่สำหรับ Warrior การจับเอาพี่น้องมาต่อยหน้ากัน ในแง่หนึ่งก็เป็นเหมือนสัญญะของการ เคลียร์ หรือ ต่อสู้ กับปมขื่นหรือปัญหาในชีวิต (ในเรื่อง พี่ชาย ก็ถือเป็นปมหนึ่งในชีวิตของทอมมี่ด้วยเหมือนกัน)
หากมองในแง่นี้ คำว่า Warrior จึงอาจไม่ได้หมายถึงนักสู้ในมิติทั่วไปทางกายภาพ แต่ให้ภาพของการลุกขึ้นต่อสู้ของมนุษย์ ต่อปมขัดแย้ง ความหลัง หรือปัญหาต่างๆที่ประเดประดังเข้ามาในชีวิต ด้วยการสวมหัวใจสิงห์ เหมือนประโยคหนึ่งบนหลังเสื้อของโค้ชของเบรดดันที่ว่า “Soul of a Lion” เพราะมนุษย์ไม่ว่าหน้าไหนต่างก็ต้องมีปัญหาในชีวิตให้สู้ และเพราะชีวิตคือสนามต่อสู้ ถ้าไม่สู้เราก็จะถูกชีวิตน็อคคาสนาม
TEXT : กิติคุณ คัมภิรานนท์